นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัด ทั้งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ มวลน้ำที่ไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลาง ประกอบกับแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มต่อเนื่องอีกระลอก ทำให้หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนต.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้
ดังนั้น ทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไปอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจน ก็จะช่วยลดผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และเศรษฐกิจได้มาก
หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และประเมินมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.17% ของ GDP (ข้อมูล ณ 28 ก.ย. 67) ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น ประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 1,826,812 ไร่
ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท ส่วนภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ดี
สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท และสุโขทัย 3,042 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นถี่ และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหาย และเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาทนั้น
หอการค้าไทย เห็นว่า ประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) รวมถึงข้อเสนอเชิงสนับสนุนใน 6 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การศึกษาปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค สำรวจปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปยังหอการค้าจังหวัดในแต่ละมิติ เช่น เครื่องมือ/อุปกรณ์การบริหารจัดการน้ำ ระบบบริหารจัดการ การซ่อมบำรุง และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม
2. จัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำ เพื่อเป็นแนวทางวางแผนและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) จัดกิจกรรมอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เกี่ยวกับฐานข้อมูลน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยฉพาะ "คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ" หรือ "Thaiwater.net" ให้กับหอการค้าจังหวัดในระดับภาค เพื่อให้ตระหนักรู้และสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านน้ำ มาเป็นแนวทางในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ และรองรับการเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์
3. แนวทางการจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ภาคเอกชนสนันสนุนแนวทางที่รัฐบาลได้จัดตั้ง War Room เพื่อทำการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นซึ่งมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย ตลอดจนการคาดการณ์ การแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
4. สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคเอกชนสนันสนุนการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้ง อาจพิจารณาขยายผลไปยังการออกมาตรการด้านการประกันภัยที่มีความเหมาะสม เพื่อเยียวยาและช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง
5. การบูรณาการ การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการลำน้ำ/ แม่น้ำร่วม ซึ่งมีปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักเกิดบนพื้นที่ทับซ้อน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนั้น ควรใช้กลไกทางการเมือง การฑูต เข้าไปบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงให้มีการจัดระเบียบของเมืองทางกายภาพ วางแนวทางน้ำไหลตามระดับสูงต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำแบบบูรณาการทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน
นอกจากนี้ ขอให้นำวิธีการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น การจัดการน้ำชุมชนนอกเขตชลประทาน มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่มีให้มากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้น (Scale Up) ประกอบกับนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยมาปรับใช้ประกอบ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
6. ทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ (Prioritization) โดยภาครัฐทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม น้ำแล้ง) ในระยะยาว เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันภัยพิบัติ การเตรียมการกักเก็บน้ำ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภค บริโภค และการใช้เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน