รวบ "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" คาบ้านหลอกขายทองออนไลน์แจ้งข้อหาหนักฉ้อโกงประชาชน DSI รับเป็นคดีเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2024 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รวบ

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำหมายศาลอาญาเข้าจับกุมผู้ต้องหากรณีขายทองออนไลน์ที่บ้านพัก คือ นางสาวกรกนก สุวรรณบุตร หรือ แม่ตั๊ก และ นายกานต์ เรื่องอร่าม หรือ ป๋าเบียร์ ตามหมายจับ ลงวันที่ 30 กันยายน 2567 และบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด ที่มีนายกานต์พล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาสำคัญ คือ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค, ร่วมกันเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

นอกจากนั้น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เดินทางมาที่บ้านพักของบุคคลทั้งสองขณะที่ถูกจับกุมตัวเพื่อส่งหนังสือเรียกเข้าให้ข้อมูลครั้งที่ 2 พร้อมเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สคบ.ได้ส่งหนังสือเรียกครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ซึ่งต่อมาบุคคลทั้งสองมีเหตุขัดข้องและแจ้งขอเลื่อนการให้ข้อมูล ครั้งนี้หากไม่ไปตามหนังสือฉบับที่ 2 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรีวรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับหนังสือแจ้งเบาะแสจาก นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีกับ แม่ตั๊ก และ ป๋าเบียร์ ที่ได้ประกาศขายทองออนไลน์ สินค้าไม่ตรงกับมาตรฐานที่ประกาศ ทำให้มีผู้เสียหายในเบื้องต้น จำนวนกว่า 241 ราย

พันตำรวจตรีวรณัน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม DSI อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้วย จึงมอบหมายให้กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะหน่วยงานกลางด้านคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประมวลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งเพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานโดยเร็วต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ