นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ย.67) อยู่ที่ 4.82 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.67% และสูงกว่าเป้าหมาย 1% โดยเป้าหมายการจัดเก็บรายได้หลังหักผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมัน และมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อยู่ที่ 5.2 แสนล้านบาท โดยมั่นใจว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 จะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ภาษีที่สามารถจัดเก็บได้เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ภาษีแบตเตอรี่ จากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นตามความนิยมในการใช้พลังงานทดแทน, ภาษีเบียร์ สุรา จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คนบริโภคมากขึ้น, ภาษีน้ำมัน จากการยกเลิกมาตรการลดภาษีน้ำมัน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และรายได้กลับมาได้ดี
ส่วนในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ ได้รับการตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท โดยมองว่า หากไม่มีปัจจัยภายนอกกระทบ เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยยืนยันว่าในหลักการจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะในระยะแรกจะเริ่มเก็บ Carbon Tax จากน้ำมัน ซึ่งเก็บจากสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหลัก
ทั้งนี้ ภาษีคาร์บอนจะมีแนวทางการจัดเก็บตามมาตรฐานโลก ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บภาษีจากน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา โดยดูตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น น้ำมันเบนซิน มีค่าการปล่อยก๊าซ 0.002237347 ตันคาร์บอน/ลิตร ซึ่งต้องคูณกับราคาคาร์บอนที่กำหนดโดยภาครัฐ เบื้องต้นจะอยู่ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน และเมื่อคำนวณออกมาภาษีคาร์บอนจะอยู่ที่ 0.45 บาท/ลิตร
"หลักการเบื้องต้น จะเก็บภาษีที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน โดยปัจจุบัน การเก็บภาษีน้ำมันคิดสัดส่วนตามลิตร เช่น ดีเซล เก็บภาษี 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งประชาชนเสียภาษีส่วนนี้อยู่แล้ว ขณะที่การเก็บภาษีคาร์บอน จะไปผูกกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 0.54 บาทต่อลิตร ส่วนระยะยาวประชาชนต้องปรับตัว และตระหนักว่าน้ำมัน 1 ลิตรที่เติมไป มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแล้ว แต่ไม่น่าจะทันการประชุมในวันที่ 1 ต.ค." นายเอกนิติ กล่าว