บาทแข็งมรสุมส่งออกไทย โค้งสุดท้ายไร้ปัจจัยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2024 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บาทแข็งมรสุมส่งออกไทย โค้งสุดท้ายไร้ปัจจัยหนุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ชี้สถานการณ์เงินบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น 12% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน และกำไรของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลงจนอาจถึงขั้นขาดทุน

การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากกรณีที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ เช่น การทำประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าเรื่องการใช้สกุลเงินท้องถิ่น

ทั้งนี้ได้ตั้งสมมุติฐานหากต้องการให้การส่งออกขยายตัวได้ 1% ช่วง 4 ที่เดือนจะต้องผลักดันยอดส่งออกให้เฉลี่ยเดือนละ 22,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ และต้องไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม แต่ถ้าหากจะให้ขยายตัวได้ 2% จะต้องผลักดันการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 23,400 ล้านดอลลาร์ ก็มีความเป็นไปได้ในระดับปานกลาง โดยตั้งเป้าการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 1-2% และมีมูลค่า 10 ล้านล้านบาท

ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าและค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในส่วนที่กำลังจะเข้ามาลงทุน หรือการขยายกำลังการผลิตอาจตัดสินใจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

"การส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายอย่างมาก ไม่มีปัจจัยหนุนเหลืออีกแล้ว ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับมรสุมที่โถมเข้ามา ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน อย่าให้เราลำบากถึงขั้นกลืนเลือดเลย" นายชัยชาญ กล่าว
*ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ได้แก่

1) ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ประกอบกับ ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ส่งผลต่อสภาพคล่องทางธุรกิจต่อเนื่อง

2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงคาดการณ์ยาก

  • สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ
  • การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลต่อการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน และมีผลกระทบให้ซัพพลายเชนทั่วโลกเกิดความผันผวน
  • สหรัฐฯ เริ่มมาตรการ safeguard 27 กันยายน ที่ผ่านมากับสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ปี 2568 เริ่มมาตรการดังกล่าวกับสินค้าถุงมือยาง ชิพ และอื่นๆ ส่งผลให้จีนต้องเร่งกระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่และตลาดเอเชียที่ยังมีศักยภาพ

3) ดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PMI) หดตัวต่อเนื่อง แม้ยังคงมี Demand อยู่ โดยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

4) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล ค่าระวางเรือยังคงเริ่มมีการปรับลดลงมาในหลายเส้นทางสำคัญ แต่เป็นการปรับลดลงจากที่ปรับขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้จากสถานการณ์ปัญหาทะเลแดง ยกเว้นเส้นทางสหรัฐอเมริกาจากปัญหาการ Strike ของคนงานท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและตะวันตกส่งผลให้เรือล่าช้า

5) ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมากและส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนวัตถุดิบและปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดไม่เพียงพอในระยะถัดไป

*ข้อเสนอแนะที่สำคัญ

1) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

2) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3) พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากเกินไป

4) เร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้านั้น ๆ

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนนั้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยในระยะกลางและระยะยาว แต่อาจไม่เห็นผลเร็วนัก คาดว่าต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 68 และจะส่งผลดีทางอ้อมต่อการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาให้คลี่คลายลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ