กกร. เตรียมพบผู้ว่าแบงก์ชาติ วอนดูแลค่าเงิน-ลดดอกเบี้ย ลดแรงกดดันภาคส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 2, 2024 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กกร. เตรียมพบผู้ว่าแบงก์ชาติ วอนดูแลค่าเงิน-ลดดอกเบี้ย ลดแรงกดดันภาคส่งออก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กก ร.) กล่าวว่า กกร. เตรียมทำจดหมายขอพบ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือ ประเด็นเรื่องค่าเงินบาท และการพิจารณาลดดอกเบี้ย

เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก เงินบาทแข็งค่าจาก 36.80 บาท/ดอลลาร์ มา อยู่ที่ 32.30 บาท/ดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% เป็นการแข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อ ความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท

โดยกกร. มองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯเชิงรุกเพื่อให้ ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้า พลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ

พร้อมเสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25% - 0.5% อีกภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ Real Sector ได้อย่างรวดเร็ว และพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและ อนาคต

*ประเมินน้ำท่วม เสียหายราว 3-5 หมื่นลบ.

กกร.คาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี โดยภาค เกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลกระทบจากอุทกภัยกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มต่อเนื่องจากพายุลูกใหม่ที่อาจเข้า ไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/67

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2% ถึง 2.7% ด้วยแรงสนับสนุนจาก ภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ทั้งในส่วนของการเยียวยาและ มาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งให้ภาครัฐบูรณาการพัฒนา ระบบแจ้งเตือนระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ทราบแบบ Real time ผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีความ ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ ต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

                              กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
%YoY                       ปี 2567                 ปี 2567               ปี 2567
                          (ส.ค.67)                (ก.ย.67)            (ต.ค.67)
GDP                       2.2 ถึง 2.7              2.2 ถึง 2.7           2.2 ถึง 2.7
ส่งออก                     0.8 ถึง 1.5              1.5 ถึง 2.5           1.5 ถึง 2.5
เงินเฟ้อ                    0.5 ถึง 1.0              0.5 ถึง 1.0           0.5 ถึง 1.0

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร. อยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เร่ง พิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตลาดการเงินได้ Price In ไปแล้ว เพื่อลดแรงกดดันต่อ Real Sector อย่างไรก็ดี กก ร. คงไม่สามารถไปชี้นำ หรือก้าวล่วงการพิจารณาของกนง. ได้ แต่จะพูดคุยเรื่องการ Price In ในตลาดการเงินแล้ว โดยอยากให้ พิจารณาในลักษณะที่ว่า The sooner the better เพราะทั้งภาคการผลิต ภาคส่งออก ภาคบริการ รวมทั้งการท่องเที่ยว และกระทบค่า เงินในทันที ซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน

ส่วนหากกนง. ลดดอกเบี้ย จะส่งผลต่อสินเชื่อหรือเงินฝากอย่างไรนั้น นายผยง กล่าวว่า ในส่วนนี้ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ หากการประชุมกนง. ครั้งหน้าไม่ลดดอกเบี้ยลง จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร นายผยง กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะเดินไปตามกลไกตลาด ในส่วนของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางนั้น มีกระบวนการสนับสนุนเรื่องมาตรการแก้หนี้อยู่แล้ว ทั้งหนี้ ครัวเรือน และหนี้ SME

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่สมาคมธนาคารไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องมี มาตรการสนับสนุนเข้ามา อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มีการประกาศนโยบายออกมาแล้ว หลังจากนี้กกร. จะสนับสนุนและสอดประสานกับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับรายได้ของครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ