แบงก์ชาติ คาดปี 69 Your Data เป็น "Game Changer" หวังลดอุปสรรคทางการเงิน-แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2024 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Your Data "ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์" ว่า หากย้อนไปดูนวัตกรรมทางการเงินในอดีต จะเป็นเรื่องของบริการ Fast Payment เช่น พร้อมเพย์ หรือ QR Payment ซึ่งเป็น Game Changer ของไทย แต่ในอนาคตการไหลเวียนของข้อมูล (Data) จะเป็น Game Changer ต่อไป เพื่อตอบโจทย์บริการทางการเงินที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การเชื่อมต่อข้อมูล หรือ Your Data เป็นเรื่องที่ต่างประเทศได้เริ่มทำกันแล้ว เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือ อินเดีย และบราซิล ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย จะเห็นว่าปัญหาคือข้อมูลอยู่หลากหลายที่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้ จึงต้องการกลไกเข้ามาช่วยเชื่อมต่อ โดยจะต้องมีด้วยกัน 3 กลไก ได้แก่

1.ระบบการจัดเก็บข้อมูล 2.มาตรฐานกลางในเรื่องของ Data Standard หรือ API ที่มีความปลอดภัย เพราะหากไม่มีมาตรฐานจะเชื่อมต่อกันได้ยาก เปรียบเหมือน หัวปลั๊กเสียบจะต้องเชื่อมด้วยกันได้ และ 3.ความปลอดภัย โดยประชาชนจะต้องมีความมั่นใจว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล และมีมาตรฐานในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูล

โดยโครงการ "Your Data" เป็นสิ่งที่ ธปท.จะทำและอยู่ในแผน "ภูมิทัศน์การเงินใหม่" หรือ Financial Landscape ซึ่งอยู่ในเรื่องของ Open Data การไหลเวียนของข้อมูล ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะจะมาช่วยลดปัญหาอุปสรรค (Pain Point) ของระบบการเงิน เช่น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินการสูง (Operating Cost) สูง ซึ่งหากมีข้อมูล (Data) จะช่วยลดต้นทุนได้ หรือการแก้อุปสรรคในเรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดย Open Data จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้

นอกจากนี้ Open Data จะเข้ามาช่วยให้เกิดสิ่งของหรือบริการใหม่ ๆ เช่น แนวคิดในการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA ตลอดจนการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งเป็นภูมิทัศน์การเงินใหม่ที่จะดำเนินการ แต่ก็มีความต้องการข้อมูล (Data) มาช่วย เพื่อให้เกิดผลประสิทธิภาพ

สำหรับกลไกที่ ธปท.จะทำจะมี 2 องค์ประกอบ คือ 1.จะเป็นการสั่งการและออกแบบกติกาชัดเจน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากเป็นภาคสมัครใจและดำเนินการได้ช้า จะมีหลากหลายรูปแบบและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 2.เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพราะคนที่รู้ดีที่สุดว่าอุปสรรคของประชาชนคืออะไร จึงเกิดความร่วมมือกับหน่วยงานการกำกับ เพื่อให้เห็นระบบนิเวศของประชาชนสามารถเข้าสู่เป้าหมายตามความยินยอมของประชาชน

ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์กำหนดกติกา สำหรับกลไกรับส่งข้อมูลในภาคสถาบันการเงินในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 และทยอยประกาศใช้มาตรฐานภายในปี 2568 โดยผู้ใช้บริการจะสามารถเริ่มใช้สิทธิส่งข้อมูลได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2569 สอดคล้องกับกรอบเวลาการดำเนินการในภาคตลาดทุน และภาคประกันภัย ส่วนการใช้สิทธิส่งข้อมูลที่อยู่นอกภาคการเงิน คาดว่าผู้ใช้บริการจะเริ่มนำข้อมูลแบบภาษี และการชำระค่าไฟฟ้าและประปามาใช้ประโยชน์ได้ในปี 2568

"สิ่งที่อยากเห็น คือ ประชาชนใช้สิทธิและได้รับบริการมากขึ้น การรับส่งข้อมูลมีความสะดวกของการไหลเวียนข้อมูล ซึ่งจะต้องเป็นในรูปแบบดิจิทัล ความปลอดภัยการดูแลข้อมูลตลอด chain และค่าธรรมเนียมไม่แพงเกินไป และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะเกิดการแข่งขัน และเสนอเงื่อนไขบริการและวางแผนการเงินให้ประชาชนได้ดีขึ้น" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ