นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่ได้หารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้ จะอยู่ที่ราว 1% ส่งผลให้คาดว่าทั้งปี 67 เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-3%
ดังนั้น จะมีการนัดกับผู้ว่าฯ ธปท.อีกครั้งภายในเดือนต.ค.นี้ เพื่อหารือกันว่าเมื่อทิศทางของเงินเฟ้อออกมาเช่นนี้แล้ว จะมีแนวทางในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างไร
นายพิชัย กล่าวภายหลังการหารือผู้ว่าธปท. เป็นเวลาเกือบ 1 ชม.ครึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือในหลักการเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและมองว่าทุกวันนี้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดยในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้ไปได้บางส่วนแล้ว
นายพิชัย มองว่า การแก้หนี้มีเพียงไม่กี่เครื่องมือที่จะสามารถช่วยได้ เช่น การยืดเวลาชำระหนี้เพื่อลดภาระหนี้ลง และอีกเครื่องมือหนึ่ง คือ การลดดอกเบี้ย
"การแก้หนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี 40 ที่มีลูกค้ารายใหญ่ไม่กี่ราย แต่รอบนี้หลายล้านบัญชี ยอมรับว่าลูกหนี้รายย่อยแก้ยากกว่ามาก ถ้าผมเป็นคนแก้หนี้ จะมีไม่กี่เครื่องมือ ทำให้ภาระหนี้น้อยลง ยืดเวลาชำระหนี้ เป็นเครื่องมือหนึ่ง อีกเครื่องมือหนึ่ง ดูว่าดอกเบี้ยลดได้ไหม เพราะเหตุใด เครื่องมือใหญ่ ๆ มีแค่ 2-3 ตัว" นายพิชัย กล่าว
กรณีหนี้ครัวเรือน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ เราจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มนี้ แต่จะไม่ใช่การลดหนี้โดยไม่มีเหตุผล ส่วนกลุ่มสอง คือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากหลายแสนบัญชี แต่ยอดหนี้ไม่สูง ซึ่งกำลังหาวิธีว่าจะมีความช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไร
"เรากำลังหาวิธีว่ากลุ่มนี้จะทำอย่างไร เพราะเงินต่อหัวน้อยมาก ในแบงก์รัฐทำแล้วหลายแสนบัญชี และตรงนี้จะมีอีก 7-8 แสนบัญชี กลุ่มเปราะบาง คือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ แต่ยอดค้างน้อยมาก อาจเป็นค่าธรรมเนียมค้าง นี่เป็นอีกส่วนที่จะดูแล ต้องดูรายละเอียด เวลาทำอยากให้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน กระทรวงคลัง ซึ่ง ธปท.ก็โดดเข้ามาช่วยเต็มที่...ไม่อยากใช้คำว่า hair cut เพราะต้องมีเหตุผล แต่การให้ดอกเบี้ยต่ำ คือ การ hair cut รูปแบบหนึ่ง รอดูว่าจะทำอย่างไร" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง ยังยืนในหลักการว่า การลดดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 16 ต.ค. แต่การหารือกันวันนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์กันค่อนข้างมาก ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ, สหภาพยุโรป และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ดังนั้น 3 กลุ่มใหญ่นี้ จะมีผลต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในไทยด้วย
"การแก้ปัญหาค่าเงิน ไม่ใช่การแก้ตรงๆ หรือประกาศว่าจะแก้ ต้องมีมาตรการหลายอย่าง ใช้เครื่องมือตัวไหน คิดว่าเมื่อรับข้อจำกัด รับสิ่งที่เปลี่ยนไป เราคุยกันนานว่าเป็นอย่างไร ผมก็ยังอยากให้ผู้ที่มีข้อมูล และรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง หยิบใช้ตัวไหน ไปลองตัดสินใจดูว่าจะเป็นอย่างไร เข้าใจว่า กนง.รอบนี้ต้องดูละเอียด...ถ้าไม่ลด ท่านก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่ลด ถ้าลด ก็คงมีเหตุผลว่าทำไมต้องลด จริง ๆ แล้วรัฐบาลคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ธปท. น่าจะมีเครื่องมือหลายตัวมากกว่านั้น" นายพิชัย กล่าว