รายงานประจำปี EY Global Mobility Consumer Index ปีที่ 5 ระบุว่า ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) ทั่วโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผู้จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตยังมีความกังวลเกี่ยวกับการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จไฟที่ไม่เพียงพออีกด้วย
รายงานดังกล่าวได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชากร 19,000 คนจาก 28 ประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลจากรายงานแสดงให้เห็นว่าแม้ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 58% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ตัวเลขความต้องการก็เริ่มชะลอตัว หลังเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 55% ในช่วงระหว่างปี 2563 ถึงปี 2566
ความกังวลหลายประการยังคงสร้างความลังเลใจแก่ผู้สนใจซื้อบางส่วน โดย 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เรื่องหลักที่กังวลคือการขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ ในขณะที่ 25% กังวลเกี่ยวกับระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และ 18% กล่าวว่ารถยนต์ไฟฟ้าใช้เวลาในการชาร์จนานเกินไป ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สูง โดยมีผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 26% ที่กล่าวถึงเรื่องนี้
ในปี 2567 ราคาน้ำมันที่สูงยังคงแซงหน้าปัจจัยอื่นในการจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดย 37% ระบุว่าเป็นสาเหตุหลัก (ประเทศไทย 42%) และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมยังคงได้รับความสำคัญเป็นลำดับรองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความตั้งใจซื้อรถยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 51% ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 57%
น.ส.วิไลลักษณ์ เลาหศรีสกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี อีวายประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขในปัจจุบันเป็นสัญญาณเตือนให้ภาคธุรกิจยานยนต์ พลังงาน และภาครัฐตื่นตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นอนาคตของการเดินทาง ข้อมูลจากผลการศึกษากลับเผยให้เห็นว่าปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จ ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และค่าใช้จ่ายที่สูงในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีความลังเลกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระยะทางที่วิ่งได้
"ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อกังวลที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยเป็นปัญหาที่ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องร่วมกันทั้งระบบนิเวศเพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข มิฉะนั้น อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคเลิกให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่รถยนต์ไฟฟ้าควรมีโอกาสเติบโต"
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนทำผลงานได้ดีมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เมื่อพิจารณาในแง่ของการเลือกแบรนด์ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 30% ที่ตั้งใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มีแบรนด์จีนอย่างน้อยหนึ่งแบรนด์อยู่ในตัวเลือกสามอันดับแรก แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 16% สำหรับผู้ตอบแบบสำรวจในละตินอเมริกา และ 12% ในยุโรป โดยผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกระบุว่าเหตุผลหลักที่จะทำให้พวกเขาพิจารณาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนคือ ราคาที่คุ้มค่า (52%) และข้อเสนอที่ดึงดูดใจของรถยนต์ไฟฟ้า (49%) แต่เรื่องราคาที่คุ้มค่ากลับเป็นเหตุผลสำคัญน้อยกว่าสำหรับผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (48%) และประเทศไทย (45%)
นอกจากนี้ รายงานยังเผยให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของคนแต่ละรุ่น โดยกลุ่มมิลเลนเนียลและกลุ่ม Gen Z ยกให้ราคาที่คุ้มค่าเป็นเหตุผลหลักในการพิจารณาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ Gen Z กลับมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องความไว้วางใจแบรนด์ โดยมี Gen Z เพียง 36% เท่านั้นที่เห็นว่าความไว้วางใจต่อแบรนด์จีนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลคิดเช่นนั้นถึง 41%
"แบรนด์สัญชาติจีนนำเสนอคุณค่าที่ดึงดูดใจผู้บริโภค โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพงให้เลือกมากมาย ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ตามปกติไม่มีในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซล อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอย่างเช่นการขาดความรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และปัญหาเรื่องความไว้วางใจที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นยังคงมีอยู่ เราคาดว่าแบรนด์จีนจะลงทุนกับพันธมิตรในประเทศต่อไปและดำเนินการส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ต่อไป" น.ส.วิไลลักษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับค่าบริการสำหรับรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดย 49% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกระบุว่าบริการดังกล่าวมีราคาแพงเกินไป (45% สำหรับประเทศไทย) ในแง่ของการแบ่งปันข้อมูล (Data sharing) 36% ทั่วโลกระบุว่ากังวลเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล ที่น่าสนใจคือ คนแต่ละรุ่นมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกลุ่ม Gen Z และเบบี้บูมเมอร์ที่กังวลกับการแบ่งปันข้อมูลมีสัดส่วนอยู่ที่ 33% และ 34% ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม Gen X และกลุ่มมิลเลนเนียล มีความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล โดยมีสัดส่วนที่ 37% ทั้งสองกลุ่ม