นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ "Navigating the Future : Embarking to the Hub of Aviation อัพเดท เจาะลึกแวดวงอุตสาหกรรมการบิน ทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน" เพื่อพัฒนาการขนส่งทางอากาศในทุกมิติ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ส่งเสริมมาตรการการท่องเที่ยวของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยการประชุมสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อม และบูรณาการความร่วมมือในการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ภายในงานมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริม สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดให้บุคลากรเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการบินระยะยาว รองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีประชากรเพียง 70 ล้านคน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประตูสู่การทำธุรกิจกับต่างประเทศที่มีประชากรโลกมากถึง 7,000 ล้านคน ซึ่งไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น และนับได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Tourism Destination) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อุตสาหกรรมการบิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และเป็น Gateway สำคัญในการเดินทางของประชากรจากทั่วโลก ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งท่าอากาศยาน สายการบิน การควบคุมการจราจรทางอากาศ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก รวมไปถึงการบำรุงรักษาเครื่องบิน ผู้ประกอบการบริการ และหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย (Safety and Security) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากเช่นกัน
ในปี 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นถึง 122 ล้านคน หรือฟื้นตัวกว่า 792,000 เที่ยวบิน ซึ่งคิดเป็นกว่า 74% เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์ Covid-19 การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับนโยบายรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน หรือ Aviation Hub อันเป็นผลงานสำคัญที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน
ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม จึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มุ่งเน้นถึงการขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการบิน และการสนับสนุนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดใน 20 อันดับแรก ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี โดยแบ่งระยะของนโยบายออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ เชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นที่ยอมรับเรื่องมาตรฐานในระดับสากล ระยะกลาง มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศ และระยะยาว มุ่งเน้นการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานอันดามัน และท่าอากาศยานล้านนา รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง
นายชยธรรม์ กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบิน จะร่วมกันพัฒนาการขนส่งทางอากาศในทุกมิติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการเดินทางทางอากาศ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
"การจัดงานสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือของการสร้าง Aviation Team Thailand ที่จะร่วมกันคิด และได้รับทราบแนวทาง แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการบรรลุตามเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว