นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปวางแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล หรือสร้างสิ่งที่มีให้สามารถตอบโจทย์และสอดคล้องกับแนวคิด New S-Curve หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต และนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ได้นำเสนอแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนจากภาคการเกษตร โดยเป็นส่วนที่ต่อยอดจากอ้อยซึ่งเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากอ้อยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้วยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายชนิด เช่น การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และเวชภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศ มีโรงงานน้ำตาลรวม 58 โรง โดยปี 2566/67 มีผลผลิตอ้อยกว่า 82 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาล 8.7 ล้านต้น เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 216,000 ล้านบาท (น้ำตาล 180,000 ล้านบาท อ้อย 131,000 ล้านบาท โมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท ไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท) และปี 66 ตามแผนโครงสร้างไฟฟ้าไทยที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนชีวมวลกว่า 4,565 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันไฟฟ้าชีวมวลจากอ้อยมีปริมาณขายไฟได้ประมาณ 1,060 เมกะวัตต์ โดยหากมีการส่งเสริมให้นำใบอ้อยซึ่งปล่อยทิ้งอยู่ในแปลง หรือถูกเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์อีกกว่า 8 ล้านตัน เข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า จะสามารถนำมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อีกไม่น้อยกว่า 650 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ มีความต้องการให้มีการสนับสนุนให้มีแผนการรับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตจากใบและยอดอ้อยเหลือทิ้งดังกล่าว นอกจากนั้น ยังขอให้มีการสนับสนุนกลไกการใช้เอทานอลภายในประเทศ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มจากการใช้กากน้ำตาลเพื่อการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ดังกล่าว