นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงทิศทางราคาข้าวไทยหลังจากนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 68 ราคาน่าจะปรับตัวลดลง โดยคาดว่าการส่งออกข้าวในปีหน้าจะอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปีนี้ เนื่องมาจากหลายปัจจัยลบ ดังนี้
1. หลังจากที่ประเทศอินเดียประกาศยกเลิกแบนส่งออกข้าวขาว และกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกที่ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ราคาข้าวทั่วโลกร่วงลงไปตาม ๆ กัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดีทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายต่างรอดูเหตุการณ์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอีกหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากอินเดียเห็นแล้วว่าราคาขั้นต่ำที่ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน นั้น ยังเป็นราคาที่ไม่สามารถระบายข้าวในประเทศได้ ก็อาจมีการปรับลดลงไปอีก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกเพิ่มอีก
"ราคาส่งออกข้าวไทยในขณะนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 515-520 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งลงมาเยอะจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 20 เหรียญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายได้ บางเทรดเดอร์ในต่างประเทศมองว่า แม้อินเดียจะตั้งราคาขั้นต่ำที่ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่เชื่อว่าผู้ส่งออกอินเดียอาจส่งออกในราคาที่ต่ำกว่านั้นได้ และมีความเป็นไปได้หากขายไม่ได้ หรือผลผลิตในประเทศล้น หรือราคาในประเทศอินเดียลดลง อาจมีการลดราคาขั้นต่ำอีกก็ได้ เพื่อให้เหมาะสมในการระบายข้าว ซึ่งจะทำให้ไทยยิ่งเหนื่อย นอกจากนี้ ราคาข้าวเปลือกไทยก็ลดลงเหลือ 7,500-8,000 บาท/ตัน จากที่เคยขึ้นไปถึง 12,000 บาท/ตัน ด้วย" นายชูเกียรติ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในปีนี้อินเดียยังมีผลผลิตข้าวที่ดีมาก อาจพุ่งไปถึง 138 ล้านตัน ซึ่งถือว่าทำลายสถิติที่อินเดียเคยผลิตมา จึงเป็นสาเหตุที่ยกเลิกแบนข้าวขาว และให้ส่งออกได้ตามปกติ ทั้งนี้ ปกติแล้วอินเดียจะส่งออกข้าวขาวประมาณ 5-6 ล้านตัน ซึ่งตั้งแต่ปี 65 อินเดียก็ได้แบน ทำให้ในตลาดไม่มีข้าวจากอินเดีย ประเทศผู้ส่งออกอย่างไทย เวียดนาม ปากีสถาน ก็ได้อานิสงส์มาเพิ่มสัดส่วนส่งออกที่ไทยซัก 2 ล้าน เวียดนาม 1 ล้านกว่า แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม สัดส่วนก็จะหายไป เพราะข้าวอินเดียจะถูกกว่าข้าวไทยและเวียดนามอยู่แล้ว ดังนั้น แนวโน้มราคาข้าวหลังจากนี้น่าจะปรับตัวลดลง
2. ค่าเงินบาทไทยที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ลดลง
3. ปีนี้ทั่วโลกผลผลิตดีขึ้นหมด เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเจอลักษณะภูมิอากาศจากปรากฎการณ์เอลนีโญ แต่ปีนี้เจอปรากฎการณ์ลานีญา ฝนตกค่อนข้างดีในหลาย ๆ ภูมิภาค ทำให้ทั้งประเทศผู้นำเข้า และส่งออกผลผลิตออกมาดีหมด อย่างไรก็ดี ก็จะทำให้การซื้อขายข้าวในตลาดโลกอาจปรับตัวลดลงด้วย เนื่องจากประเทศผู้ซื้ออาจซื้อข้าวน้อยลง ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวปีละประมาณ 4 ล้านตัน แต่ปีหน้ากระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า จะนำเข้าเหลือแค่ 1.5 ล้านตัน เท่านั้น
4. จับตาสงครามระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน หากขยายวงกว้างจะกระทบต้นทุน โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางตะวันออกกลางจะพุ่งสูงขึ้น
ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมในไทย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต แต่ยังต้องใช้เวลาในการประเมิน เนื่องจากมีการท่วมเพียงบางจุดเท่านั้น และในภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากนัก ทั้งนี้ มองว่าน้ำท่วมยังดีกว่าฝนแล้ง เพราะ ถ้าน้ำท่วมลดลงแล้ว ก็ยังสามารถปลูกซ่อมได้ แต่ถ้าแล้งคือไม่มีน้ำปลูกข้าวเลย
นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับปี 67 ในช่วงครึ่งปีแรกไทยส่งออกข้าวได้ดีมาก เพราะเป็นช่วงที่อินเดียยังแบนส่งออกข้าว และค่าเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 36 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ดี โดย 9 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกแล้วได้กว่า 7 ล้านตัน ดังนั้น ปีนี้น่าจะทำได้เกินเป้าส่งออกมากกว่า 8 ล้านตันที่วางไว้ได้
"ปีนี้ส่งออกไม่น่าห่วง แต่ปีหน้าไทยตอนนี้ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวก จะเจอการแข่งขันเรื่องราคาแบบเต็มรูปแบบ รวมทั้งการส่งออกที่ลดลง จากการที่อินเดียกลับมาลงสนาม โดยเบื้องต้นมองว่าการส่งออกข้าวไทยอาจลดลงจากปีนี้ไปประมาณ 2 ล้านตัน (คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน เป็นระดับเดียวกับก่อนหน้าที่อินเดียจะแบนการส่งออกข้าว หรือกลับไปที่ระดับเดิมในปี 65" นายชูเกียรติ กล่าว
สำหรับแนวทางส่งเสริม หรือแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าว มองว่า ในระยะสั้นน่าจะดำเนินการได้ยาก แต่ในระยะกลาง-ยาวจำเป็นต้องมีการวิจัย พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อลดต้นทุนการผลิต และขายได้ในราคาที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวไทยให้ผลผลิตต่อไรต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 450 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก)/ไร่ เท่านั้น ในขณะที่ข้าวเวียดนามให้ผลผลิตต่อไรถึง 900 กิโลกรัม/ไร่ อินเดียอยู่ที่ 800 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ประเทศอื่น ๆ สามารถขายข้าวได้ในราคาที่ถูกกว่าไทย
ส่วนอันดับผู้ส่งออกข้าวไทย ปีนี้ไทยยังอยู่ที่อันดับ 2 เนื่องจากไทยส่งออกได้ดี ส่วนปีหน้าไทยจะยังครองอันดับเดิมได้หรือไม่นั้น ต้องรอจับตาปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งก็มีโอกาสที่เวียดนามจะแซงไทยได้ เนื่องจากล่าสุดปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวใกล้เคียงไทยที่ 8 ล้านตันแล้ว โดยปัจจัยหลัก คือผลผลิตข้าวต่อไร่ของเวียดนามดีกว่าไทยถึง 2 เท่า
"ไทยเริ่มมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งเราพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด เพราะในอนาคตหลีกเลี่ยงการแข่งขันไม่ได้ ผู้เล่นในตลาดก็มากขึ้น จากเดิมที่มีแค่อินเดีย และเวียดนาม ก็มีปากีสถาน และเมียนมา มาแข่งขันเพิ่มด้วย" นายชูเกียรติ กล่าว