เอกชนไทย-จีน ตั้งกลไกร่วมสกัดสินค้าไร้คุณภาพ-ธุรกิจเทา เรียกร้องรัฐดูแลมาตรฐาน-ระบบชำระเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2024 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน ประกาศจัดตั้ง "กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน" เพื่อช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้า โดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า อาทิ ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพ ธุรกิจสีเทา ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนร่วมพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเตรียมนำเสนอ 2 ประเด็นสำคัญที่จะหารือกับรัฐบาล หลังจากได้ทำหนังสือขอเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่

  • การดูแลและออกมาตรการกับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงการคลัง เป็นต้น ต้องตรวจสอบ และออกมาตรฐานดูแลสินค้าให้ชัดเจน โดยกรมศุลกากรต้องเป็นด่านหน้าสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกกฎ ระเบียบและผิดกฎหมาย ไม่ให้เข้ามาในประเทศ
  • การค้าสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee หรือ TEMU โดยภาครัฐควรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ในการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ, เก็บภาษีกำไรหรือภาษีเหมากับกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซไม่ได้แสดงบัญชีกำไร-ขาดทุน แต่ผู้ประกอบการไทย เมื่อผลประกอบการมีกำไรจะเสียภาษีให้ภาครัฐ 20% และหากลไกดูแลการชำระเงิน เพราะการชำระผ่าน Application ,WeChat, Alipay ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 กล่าวว่า 3 องค์กรประกาศจัดตั้งกลไกฯ จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ คาดว่าภายใน 2-3 เดือน หรือต้นปี 68 จะเห็นแผนงานและทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้น ภายใต้แผนดำเนินการสำคัญ 9 ประการ โดยหนึ่งในนั้นจะรวบรวมประเด็นที่ผู้บริโภค ประชาชนให้ความเป็นห่วงนำมาศึกษา รวบรวม เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานต่อไป มั่นใจว่า การประกาศครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการสนับสนุนระหว่างกัน

"การจัดตั้งกลไกนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้น ช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้า โดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนว่าจะร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน" นายพจน์ กล่าว

โดยมีแผนงาน 9 ประการ ได้แก่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าที่เชื่อถือได้, ส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ, ให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ, สนับสนุนให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ฯลฯ

ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การไหลมาของจีนไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้าอย่างเดียว แต่รวมถึงนักลงทุนด้วย การมีกลไกฯ จะเป็นตัวสร้างความมั่นใจและเชื่อใจให้กับทั้ง 2 ประเทศในการเข้ามาทำการค้าการลงทุน อีกทั้งจะช่วยสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพหรือราคาถูกไม่ให้วางขายตามท้องตลาด รวมถึงสกัดนักลงทุนสีเทา ซึ่งจะช่วยคลายความกังวล และปัญหาให้กับผู้บริโภค ทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และประเทศไทยมีการลงทุนที่มีคุณภาพเข้า

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยติดต่อกันมา 12 ปี โดยช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 67 มูลค่าการค้ารวม 86,842 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.6% เป็นไทยส่งออก 31,805 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.4% และไทย 55,036 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 10.5% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ เป็นผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง, เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ