ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.67 อยู่ที่ 55.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 48.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 52.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 64.4
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า และความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าในเดือนนี้จะมีการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางคนละ 10,000 บาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม
"ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ระบุเลยว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น...โดยบรรยากาศของเดือนก.ย. ถูกกระทบด้วยบรรยากาศของน้ำท่วม สถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบแรกคือมีบรรยากาศที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เพราะยังไม่มีมาตรการกระตุ้น มีสงครามต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจมีอาการซึม พอมีน้ำท่วม ก็ทำให้ภาพออกมาในเชิงลบต่อสังคม" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการคนละ 10,000 บาท ในการสำรวจความเชื่อมั่นไม่เพียงพอในการทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถ บ้าน และท่องเที่ยว ที่ยังปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน
หอการค้าไทย คาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 (ณ 8 ต.ค. 67) จะส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 36,929 ล้านบาท (ประเมินในกรอบ 30,000-40,000 ล้านบาท) โดยมีสมมติฐานว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายภายใน 15 วัน
โดยจากการวิเคราะห์ พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 27,434 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 74.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมา คือภาคบริการ 9,209 ล้านบาท และ ภาคอุตสาหกรรม 287 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 0.21% ของ GDP ของประเทศไทย
สำหรับจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ เชียงราย โดยมีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ เชียงใหม่ 4,232 ล้านบาท และพะเยา 3,292 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1.3 ล้านไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 2.3 ล้านไร่ และมีทั้งหมด 36 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้
"ยังมีผลกระทบต่อเนื่องอาจมีความเสียหายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เห็นภาพของบรรยากาศการคลี่คลายของสถานการณ์น้ำ ซึ่งล่าสุดสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ออกมาพูดว่าควรจะมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูแล้ว ทั้งการเดินทาง ความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากเฉพาะ 2 จังหวัดนี้ อาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปในช่วง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งอาจมีความเสียหายเพิ่มอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากภาพของสถานการณ์น้ำท่วม ที่มีความกังวลว่าจะลุกลามมาภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร จึงกลบข่าวบวกของเงิน 10,000 บาท โดยดัชนีหอการค้าไทย แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการบางภาคได้รับผลกระทบน้ำท่วมโดยตรง และบางภาคก็มีความห่วงใยกังวลเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน และน้ำท่วม ดังนั้น เรื่องน้ำท่วมจึงเป็นประเด็นทางจิตวิทยา และตอนนี้หลายคนก็ยังกังวลเรื่องน้ำท่วมว่าจะมาภาคกลางอยู่ ดังนั้น สิ่งที่เป็นเชิงจิตวิทยาไปกลบความเชื่อมั่นเชิงบวก 10,000 บาท ทำให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ และความเชื่อมั่นประชาชนปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะโตที่ 2.6% เพราะมีสถานการณ์น้ำท่วม และยังมีภาพบรรยากาศของการเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส จึงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องการมาตรการกระตุ้น โดยเดิมหอการค้าไทยเคยคาดการณ์ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโต 2.6-2.8% ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังติดตามดูข้อมูลต่อไป
จากบรรยากาศเศรษฐกิจขณะนี้จึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ หรือไม่ โดยในช่วงปลายปีอาจมีมาตรการท่องเที่ยว หรือชิมช้อปใช้ ซึ่งแม้จะดูเป็นมาตรการของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา แต่ก็สามารถเปลี่ยนชื่อได้ แต่ให้อยู่ในคอนเซ็ปเดียวกัน จะเป็นมาตรการคูณ 2 เหมือนคนละครึ่ง หรือชิมช้อปใช้ ลดภาษี ก็ได้เช่นกัน
รวมทั้งต้องจับตาประเด็นด้านเศรษฐกิจที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้าในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ เนื่องจากท่าทีของกระทรวงการคลัง คือต้องการเพิ่มกรอบเงินเฟ้อไปอยู่ที่ 1.5-3.5% จากเป้าหมายที่ 1-3% และการส่งสัญญาณของธปท. เรื่องดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ต.ค. นี้
"อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ธปท. อาจมีมุมมองว่าเหมาะสมกับการระดมเงินออม เพื่อออมไว้สำหรับการลงทุนระยะยาว แต่ในมุมมองของกระทรวงการคลัง และคนที่อยากให้ลดดอกเบี้ย จะมีมุมมองว่า ถ้าดอกเบี้ยต้นทาง หรือเชิงนโยบายลดลงตามกระแสโลกได้ จะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ธุรกิจอาจใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ในการส่งเสริมการตลาดได้ง่ายขึ้น คนจะมีภาระการผ่อนดอกเบี้ยต่ำลง เพราะดอกเบี้ยขาลงจะทำให้สถานการณ์ถูกเยียวยาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนสำคัญกับบรรยากาศเศรษฐกิจที่ดูซึม ๆ" นายธนวรรธน์ กล่าว