วิจัยกสิกรฯ คาดมติกนง. 16 ต.ค.คงดอกเบี้ยต่อเนื่อง คาดเริ่มปรับลงธ.ค.67

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2024 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิจัยกสิกรฯ คาดมติกนง. 16 ต.ค.คงดอกเบี้ยต่อเนื่อง คาดเริ่มปรับลงธ.ค.67

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค.67 ยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง.คงมีท่าทีผ่อนคลายต่อทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น โดยส่งสัญญาณเปิดโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มองความเป็นไปได้ว่า กนง.อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในเดือน ธ.ค.67

โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเปราะบางและเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ท่ามกลางแรงหนุนจากการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาอุทกภัยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปยังภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และกำลังซื้อของผู้บริโภค ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
  • แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-3% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามมาตรการภาครัฐช่วยเหลือค่าครองชีพโดยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แต่ในภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5%
  • ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกอยู่ในฝั่งผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ใน 2 การประชุมที่เหลือในปีนี้ หลังมีมติปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ลงมาอยู่ที่ 4.75-5.00% ในการประชุม FOMC เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และสัดส่วนการทำกำไรของผู้ส่งออกไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.อาจยังคงประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยปี 2567 ไม่แตกต่างจากการเผยแพร่ครั้งก่อนหน้าเท่าใดนัก โดย ธปท.คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.6% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ในการเผยแพร่ประมาณการเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ