นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด จังหวัดกระบี่ว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร - ท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด เพื่อเป็นศูนย์กลางของจังหวัดกระบี่ในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางบก ทางทะเลทั้งของจังหวัดระนอง - พังงา - ภูเก็ต - ตรัง - สตูล และเป็นจุดขนส่งนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดไม่ว่าจะเป็นเกาะลันตา เกาะจำ เกาะปู เกาะพีพี โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำกับ ดูแลความปลอดภัย การดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ที่เน้นการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อสร้างความสะดวกสบายและรองรับการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่และจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่แล้ว ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจในท้องถิ่นอีกด้วย
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า (จท.) เตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการในช่วงไฮซีซั่น เพื่อให้การเดินทางน้ำเป็นไปอย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย โดยกำชับให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ประกาศนียบัตรคนประจำเรือ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ตรวจสอบสภาพท่าเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมใช้งาน 100% พร้อมปรับเพิ่มเส้นทางและรอบเรือให้เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยว เข้มงวดการตรวจตราก่อนเรือออกเดินทางจากท่าเรือต่าง ๆ ไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด ตรวจสอบมิให้เรือบรรทุกผู้โดยสารบรรทุกสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ถังแก๊ส LPG หรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ เป็นต้น อีกทั้งเข้มงวดกวดขันผู้ควบคุมเรือให้มีความพร้อมในการเดินเรือ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ โดยให้จัดประชุมประชาสัมพันธ์รณรงค์มาตรการความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำร่วมกับชมรม สมาคมต่างๆ และผู้ประกอบการเรือในพื้นที่ด้วย
ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวที่ปากคลองจิหลาด มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว และรองรับการเชื่อมโยงโครงการท่าเรือวงแหวนอันดามัน โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการปรับปรุงหลังคาและโครงสร้างบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือขนาด 480 ตารางเมตร ติดตั้งเสาและยางกันกระแทก การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยยกระดับท่าเทียบเรือให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางทางทะเลฝั่งอันดามัน ปัจจุบันมีเรือโดยสารขนาดกลางใช้บริการ 10 ลำ/วัน ผู้โดยสารประมาณ 500 - 1000 คน/วัน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือชุมชน (ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล) เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย สนับสนุนการรองรับระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงชายฝั่งที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป