BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.90-33.65 เก็ง กนง.คงดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 15, 2024 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.33 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.22-33.61

โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นหลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 17-18 ก.ย. ระบุว่าผู้กำหนดนโยบายหลายรายเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในขนาด 50bp ไม่ได้ผูกมัดเฟดในเรื่องความเร็วสำหรับการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 3.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เช่นกัน โดยเป็นผลของการพุ่งขึ้นของหมวดที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ อย่างไรก็ดี อัตราการปรับขึ้นค่าเช่าชะลอตัวลง

ภาพรวมในสัปดาห์นี้ ผู้ร่วมตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลยอดค้าปลีกเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 17 ต.ค.67 ซึ่งคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 25bp อนึ่ง แม้เงินเฟ้อเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ สูงเกินคาด แต่เราตั้งข้อสังเกตว่าปฏิกิริยาของตลาดค่อนข้างจำกัด สะท้อนถึงความเชื่อของนักลงทุนที่ว่าข้อมูลนั้นไม่ร้อนแรงพอที่จะทำให้เฟดถึงกับต้องคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. โดยเจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่จุดเปลี่ยนของการตัดสินใจด้านนโยบายและยังคงบ่งชี้ว่าแนวโน้มหลักของภาวะเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลง

นอกจากนี้เรามองว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ การคาดการณ์นโยบายเฟด รวมถึงการตอบรับของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน สามารถเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดในระยะสั้นได้ ในภาวะเช่นนี้เราประเมินว่าขาลงของเงินเยนจากระดับปัจจุบันจะถูกจำกัด

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยที่ 2.50% ด้วยเสียงไม่เอกฉันท์ในวันที่ 16 ต.ค.67 อย่างไรก็ตาม หากมติออกมาสูสีมากหรือมีการปรับโทนการสื่อสารอาจถือเป็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ