นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางนั้น จะพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนและแหล่งเงินของกองทุน
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion charge) ซึ่งเรื่องนี้ ทางสนข.ได้มีการศึกษา โดยความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งมีสำรวจ ถนนอยู่ในใจกลาง กทม. ที่เส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน จะจัดเก็บ Congestion charge เช่น สุขุมวิท เพชรบุรี สีลม รัชดาภิเษก ซึ่งพบว่า มีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน ดังนั้น ยกตัวอย่าง หากเก็บค่าธรรมเนียมฯคันละ 50 บาท ประเมินเบื้องต้นจะมีรายได้เข้ากองทุนเพียงพอสำหรับการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า
นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินนโยบายรัฐบาลค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท กับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสายสีม่วง ซึ่งพบว่าทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยจะช่วยให้มลภาวะดีขึ้น และ ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนโดยนายกรัฐมนตรีต้องการที่จะให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในทุกสาย ในเดือนก.ย. 2568
ดังนั้น หากกระทรวงการคลังดำเนินการตั้งกองทุนเพื่อไปซื้อรถไฟฟ้าคืนได้เรียบร้อย ก็จะใช้วิธีการซื้อคืนสัมปทานได้เลย แต่หากทางกระทรวงการคลังยังดำเนินการไม่ทัน กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการไปก่อน โดยมีแนวทาง การจัดหาแหล่งเงินที่จะมาชดเชย คือ ส่วนแบ่งรายได้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมาจากสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และจากงบประมาณส่วนหนึ่ง
"ประชาชนมั่นใจได้ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาลที่ประกาศไว้จะขยายไปทุกสายในเดือนก.ย. 2568 แน่นอน ผมพูดไปแล้วอยากให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคา 20 บาท มีการศึกษาแหล่งเงินที่จะมาชดเชยแล้วแต่หากกระบวนการศึกษาระหว่างคลังกับคมนาคมเรื่องซื้อคืนเสร็จก่อนก็จะใช้กระบวนการตรงนั้น"