น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการ "ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" โดยย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการเติมเงิน 145,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบที่มีการแจกเงินสด 10,000 บาท ถึงมือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินเป็นกลุ่มแรก พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะยังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะเป็นการรับไม้ต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบนี้ จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีอยู่ถึง 95% ของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยจะดำเนินการทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนก.ย.67 และจะสิ้นสุดในเดือนม.ค.68 โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 การลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ด้วยการลดค่าเช่าร้านค้า/ค่าเช่าแผง ในพื้นที่หน่วยงานราชการ และพื้นที่เอกชนที่เข้าร่วม เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องขอบคุณนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สามารถขอความร่วมมือในการลดค่าเช่า ถึง 50% ใน 12 ตลาดใหญ่ที่กทม. รับผิดชอบ มีพ่อค้าแม่ค้าประมาณ 11,000 ราย ที่ได้ลดค่าเช่าถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงพื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานราชการ มีการยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ประกอบการกว่า 3,000 ราย
ทั้งนี้ ค่าเช่าพื้นที่การขาย ถือเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ การลดต้นทุนการลดค่าขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างไปรษณีย์ไทยกับหน่วยงานราชการ ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ หอการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ลดค่าขนส่งสินค้า
- ส่วนที่ 2 การเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยการสนับสนุนพื้นที่จากหน่วยงานราชการ และพื้นที่ของเอกชน ให้ผู้ประกอบรายเล็กมีช่องทางทำมาค้าขายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือ เช่น กระทรวงกลาโหม ได้นำพื้นที่ค่ายทหารมาทำเป็นตลาดนัด, กระทรวงมหาดไทย ในการใช้ลานหน้าศาลากลางจังหวัด รวมไปถึงมีการจัดตลาดพาณิชย์กว่า 1,300 ครั้ง ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เป็นต้น
- ส่วนที่ 3 การลดค่าครองชีพให้ประชาชน ด้วยการจับมือผู้ผลิตและผู้ค้าส่งรายใหญ่ เพื่อลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และจัดงานมหกรรมลดราคาสินค้า โดยมีภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ผู้ให้บริการในปั๊มน้ำมัน และแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์รวม 130 ราย มีร้านสาขาย่อยกว่าแสนสาขาครอบคลุมทั้งประเทศ ให้ความร่วมมือในการลดราคาสินค้าในโครงการนี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งของทุกฝ่าย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาครัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
"รัฐบาลยังจะมุ่งมั่นตั้งใจทำงานในเรื่องนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรฐกิจไทยให้กลับมาเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง แข็งแรง มั่นคง โดยเรามีแผนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้ประชาชนฟื้นขึ้นมา และสร้างสิ่งดี ๆ ได้อย่างเข้มแข็ง ขอให้ทุกคนติดตามนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะเสนอต่อประชาชน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ โดยจะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็ง และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคนไปด้วยกัน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะผู้ร่วมงาน ทำพิธีเปิด วางป้ายโครงการฯ ลงบนแท่น และนายกรัฐมนตรี VDO Call พูดคุยแลกเปลี่ยน และรับชมถ่ายทอดบรรยากาศกิจกรรมฟื้นฟูจากสถานที่จริงในทุกภูมิภาค 5 แห่ง ผ่านโปรแกรมระบบ Zoom จ.ขอนแก่น จ.ลพบุรี จ.อุดรธานี จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงราย โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามตัวแทน และแสดงความยินดีที่ได้ยินว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางของนายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งคอนเซ็ปของโครงการนี้ต้องการให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนที่ด้อยโอกาส และต้องการให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าราคาถูก และผู้ประกอบรายย่อยสามารถขายสินค้าต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ
นายพิชัย กล่าวว่า ในภาพใหญ่ปี 67 มีการลงทุนจากต่างประเทศ ในด้าน Data Center แล้ว 1.6 แสนกว่าล้านบาท รวมไปถึงการลงทุนจาก Google ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท รวมแล้วเกือบ 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งประเทศไทยได้รับความสนใจจากต่างประเทศ และประเทศไทยกำลังรุ่ง มีสัญญาณและการลงทุนต่าง ๆ เริ่มเข้ามา ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนที่ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจ
"กระทรวงพาณิชย์ จะทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้สามารถขยายกิจการได้มากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจต่าง ๆ เจริญรุ่งเรือง รวมไปถึงการเจรจาเขตการค้าเสรีจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ" รมว.พาณิชย์ ระบุ
โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำร่องกิจกรรมภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ไปแล้วตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา อาทิ ตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ, เทศกาลกินเจ, งาน International Live Commerce Expo 2024 เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท คาดการณ์มาจากกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนแรกประมาณ 78,700 ล้านบาท มาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินไปคนละ 10,000 บาท คาดว่ากลุ่มนี้จะนำเงินมาซื้อของที่จัดโปรโมชันลดราคา ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 54.1% ของเงินที่ได้รับไป
โดยสัดส่วนนี้ คิดมาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่า "ครัวเรือนรายได้ต่ำ จะนำเงินมาซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และเครื่องแต่งกาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54.1% ของรายได้"
ส่วนที่สองประมาณ 18,700 ล้านบาท มาจากการลดต้นทุนทางธุรกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ International Live Commerce Expo 2024 เทศกาลกินเจ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ ธงฟ้า และตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ เป็นต้น
ส่วนที่สาม เป็นการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ลดราคาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกประมาณ 14,400 ล้านบาท
"คาดว่าเมื่อจบโครงการ จะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ตามเป้า เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ในทุกมิติ และ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง" รมว.พาณิชย์ ระบุ