น้ำท่วม-กำลังซื้ออ่อนแอ กดดันดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ย. ลดลงมาที่ 87.1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2024 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนาวา จันทนสุรคน รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.67 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลง จาก 87.7 ในเดือนส.ค.67 โดยมีปัจจัยด้านลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท

"ดัชนีฯ ในเดือนกันยายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และเป็นระดับต่ำสุดในรอบปี 67" นายนาวา กล่าว

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ จากแรงกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือน ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนก็ยังคงชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.67) หดตัว 24% และ 11%YoY ตามลำดับ

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดย ณ วันที่ 27 ก.ย.67 เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 63.31% ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนส.ค. 67 เป็น 33.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก.ย. 67 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.ย. ยังมีปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 โดยการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14.5 ล้านราย ช่วงวันที่ 25-30 ก.ย. 67 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-29 ก.ย. 67 มีทั้งสิ้น 26,005,295 คน ขยายตัว 30% สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มูลค่า 1,214,681 ล้านบาท และภาคการส่งออก ปรับตีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ยุโรป อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น และอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ในเดือนส.ค.67 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการ 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วง High Season และได้รับผลบวกจากมาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวภาครัฐ อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยในสินค้าปิโตรเคมี ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ย. ยังมีปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 โดยการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14.5 ล้านราย ช่วงวันที่ 25-30 ก.ย.67 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ยและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงกังวลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง กระทบต่อวัตถุดิบในภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ เป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และลดความผันผวน รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

2.ขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ (Real time) ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป้องกันปัญหาน้ำไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

3.เสนอให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น

นายนาวา กล่าวว่า คงต้องให้เวลารัฐบาลในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้เริ่มโครงการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคนไปเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ 1.5 เท่า แต่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยนั้นจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้ทันช่วงไอซีซั่นที่กำลังจะมาถึง หากล่าช้าออกไปก็จะเกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา

ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการฟื้นฟูแศรษฐกิจให้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปแล้ว และรัฐบาลได้นำไปจัดทำนโยบายแถลงต่อรัฐสภา ทั้งนโยบายเร่งด่วนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะพิจารณาว่าควรจะอยู่ในระดับใดจึงจะเกิดความสมดุลต่อสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยเสนอให้มีการปรับลดลง 0.25% ซึ่งขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาว่าช่วงเวลาที่ใดจึงจะเหมาะสม

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าลงมาราว 8% จากระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ แม้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ยังมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าพลังงาน ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ส่งผลดีต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีภาระลดลง โดยขณะนี้มีสถานะกองทุนฯ ติดลบลงต่ำกว่าแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งที่ประชุม กกร.ได้นำเสนอว่าค่าเงินบาทที่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์น่าจะมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การที่ภาคเอกชนเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อการส่งออกนั้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ส่วนผลกระทบเรื่องการนำเข้าพลังงานนั้นน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะมีการส่งเสริมในเรื่องพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด

"ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหยุดชะงักทุกตัวจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น" นายอิศเรศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ