ส.อ.ท.เสนอรัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยเรียลไทม์-ออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2024 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และในช่วงเดือน ต.ค.นี้ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 ต.ค.67 มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบ 128 ราย แบ่งเป็น

1.น้ำท่วมเสียหายหนัก ทั้งเครื่องจักร ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร อุปกรณ์สำนักงาน จำนวน 23 ราย

2.น้ำท่วมเสียหายปานกลาง จำนวน 17 ราย

3.น้ำท่วมเสียหายแต่ช่วยเหลือตัวเองได้ จำนวน 36 ราย

4.ไม่เสียหายแต่ได้รับผลกระทบ จำนวน 52 ราย

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ (Real time) ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม

"สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ค่อนข้างมาแรงและเร็ว และเข้ามาช่วงท่องเที่ยวปลายปี อีกทั้งช่วงปลายปีไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า เราจะเจอกับปัญหา PM 2.5 อีก วิกฤตต่าง ๆ เหล่านี้จะกระทบสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด" นายอิศเรศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้จัดทำมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการเงิน

  • พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 12 เดือน
  • ลดค่างวด 50% และลดดอกเบี้ย 1% นาน 12 เดือน
  • กู้ซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการได้ 100% ดอกเบี้ยต่ำ
  • เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อหมุนเวียนและฟื้นฟูกิจการจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกองทุนประชารัฐจากกระทรวงอุตสาหกรรม

2.ด้านภาษี

  • เครื่องจักรและวัตถุดิบสามารถย้ายออกจากโรงงานไปยังสถานที่อื่นหรือส่งออกในกรณีฉุกเฉินได้ โดยขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สามารถกระทำได้ภายหลัง
  • สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากเหตุอุทกภัย รวมทั้งสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ในคราวเดียวกัน
  • ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบที่นำเข้าตามมาตรา 36 ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย
  • ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในบางรายการ

3.ด้านค่าธรรมเนียมของกระทรวงอุตสาหกรรม

  • ขอขยายระยะเวลาลงทะเบียนโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมจากสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.67 ออกไปเป็นวันที่ 30 พ.ย.67

4.ด้านค่าสาธารณูปโภค

  • ไม่ต้องชำระค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SME ประจำเดือน ต.ค.-พ.ย.67
  • ยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าบริการทั่วไปสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SME ประจำเดือน ต.ค.-พ.ย.67

นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้มีการทบทวนเรื่องวงเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาระต่อผู้ประกอบการในส่วนของการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 89,661 ราย วงเงิน 39,284 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 33,170 ราย วงเงิน 14,980 ล้านบาท

"รัฐบาลควรขยายเวลาลดค่าสาธารณูปโภค เนื่องจากปัญหาลุกลามต่อเนื่องมาจนถึงเดือนตุลาคม" นายอิศเรศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ