ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.15 ระหว่างวันอ่อนค่าหลังกนง.เซอร์ไพร์สลดดอกเบี้ย ก่อนขยับแข็งค่าตามภูมิภาค-ราคาทอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2024 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ 33.15 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาด เมื่อเช้าที่ระดับ 33.33 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15 - 33.42 บาท/ดอลลาร์

หลังจากที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาผิดจากที่ตลาดคาดไว้ว่าจะคงดอกเบี้ย โดยมีมติปรับ ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าไปแตะที่ 33.42 บาท/ดอลลาร์ ในระยะสั้น ๆ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังได้รับปัจจัย จากราคาทองคำที่พุ่งขึ้นมาระหว่างวัน ทำให้มีโฟลว์ส่งออกทองคำ ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วงปิดตลาด

"สกุลเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแข็งค่าเช่นเดียวกับเงินบาท โดยยังเป็นไปตามตัวดอลลาร์ ส่วนบาทมีอ่อนค่าชั่วคราวหลังรับข่า วกนง. ลดดอกเบี้ย ภาพใหญ่เงินบาทยังไปทิศทางเดียวกับภูมิภาค และโฟลว์ทองคำ" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทพรุ่งนี้ที่ 33.10 - 33.30 บาท/ดอลลาร์

สำหรับคืนนี้ยังไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยตลาดรอติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และแถลง มติอัตราดอกเบี้ย ในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค.)

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 149.20 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 149.21 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0894 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0886 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ 1,485.01 จุด เพิ่มขึ้น 19.98 จุด (+1.36%) มูลค่าซื้อขาย 77,184.13 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 4,287.91 ล้านบาท
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50%
เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมิน
ไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 67 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ มี
แนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ทั้ง
นี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็น
อุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่
ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
  • รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนอยากเห็นการปรับลดดอกเบี้ยปีนี้รวม 0.50% โดยครั้งนี้ 0.25% และครั้งถัดไปอีก 0.25%
เพราะในขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังแย่อยู่ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังจะดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะโตขึ้น 3-4% ทำให้ทั้งปี GDP น่า
จะโตได้ประมาณ 2.7% ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าด้วย และหากค่าเงินบาทอ่อนลงจะมีส่วนช่วยทั้งภาคการส่งออกและ
ภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งอยู่ในระดับ 70-80% ของ GDP ด้วย รวมถึงช่วยเรื่องการลงทุนด้วย สำหรับกรอบเงินเฟ้อในปีหน้า อยากเห็น
ที่ 2-3%
  • นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวถึงกรณีที่กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในวันนี้อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า
เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่คงต้องรอดูสถานการณ์อีก 2-3 วันว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีทิศทาง
เป็นอย่างไรต่อไป นอกจากนี้ ราคาทองในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลก โดยวันนี้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ
2,675 ดอลลาร์/ออนซ์ และคาดว่าอีกไม่นานจะสามารถปรับขึ้นไปแตะแนวต้านที่ระดับ 2,700 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากได้รับแรงหนุน
จากความกังวลเรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งขณะนี้เกิดปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบกันในหลายภูมิภาค
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. 67 อยู่ที่ระดับ
87.1 ปรับตัวลดลงจาก 87.7 ในเดือนส.ค. 67 โดยมีปัจจัยด้านลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่ง
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 67 หนี้ครัวเรือนไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 1% เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังมี
สัญญาณฟื้นตัวช้าซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน และความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ส่งผลให้ปรับประมาณการสัดส่วน
หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 67 ลงมาที่กรอบ 88.5-89.5%
  • KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างใน
ระยะยาว แต่ KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 67 ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% และปี 68 ขึ้นจาก 2.8% เป็น
3.0% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น จากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1. การแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางของภาครัฐ
ในช่วงไตรมาส 4/67 และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 68 และ 2. การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกบางกลุ่ม
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีกำหนดจัดประชุมนโยบายเป็นระยะเวลา 2 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. เพื่อพิจารณา
ว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 0.25% หรือไม่ โดยสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า
BOJ ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ (16 ต.ค.) ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยให้
เหตุผลว่าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายไปจนถึงปี 2568
  • ญี่ปุ่นกำลังจับตามาเลเซียและไทยอย่างใกล้ชิดในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังยื่นขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งเป็นคู่

แข่งของมหาอำนาจทางการค้าอย่างยุโรป, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ