KTB ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ยอีกรอบ หลังให้มุมมอง ศก.ไทยยังเผชิญความไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2024 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KTB ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ยอีกรอบ หลังให้มุมมอง ศก.ไทยยังเผชิญความไม่แน่นอน

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps จาก 2.50% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 ซึ่ง กนง. ประเมินว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้นั้น

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ที่คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 1.0% (QoQ) (เทียบกับ 1.2% ใน 1H67) ตามด้วยแรงส่งที่แผ่วลงต่อเนื่องสู่ 0.6% (QoQ) ในปี 2568 ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ที่ 1.2% ยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอน ที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน (Financial conditions) จาก

1) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอยู่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

2) เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า กระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง.คาด มองไปข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ กนง.ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.7% โดยเติบโตต่อเนื่องจาก 1.9% เมื่อปี 2566 ด้วยแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มอยู่ที่ 0.5% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

ขณะที่ในปี 2568 เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัว 2.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางนั้น ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

ส่วนภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักฝั่งตะวันตก และปัจจัยเฉพาะในประเทศ ขณะที่สินเชื่อโดยรวมชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ และบัตรเครดิต

ส่วนคุณภาพสินเชื่อนั้นด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ SMEs และครัวเรือนบางส่วนมีภาระหนี้สูง ทั้งยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ที่ตรงจุด และมีส่วนช่วยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging)

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับที่เป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องไม่ต่ำเกินไป จนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ