หนุนไทยใช้แนวทางซื้อขายพลังงานแบบ P2P ช่วยลดค่าไฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2024 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนุนไทยใช้แนวทางซื้อขายพลังงานแบบ P2P ช่วยลดค่าไฟ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันระบบการซื้อขายพลังงานแบบ (Peer-to-Peer:P2P) เป็นแนวทางใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ระบบการซื้อขายพลังงานแบบ P2P อาจจะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานหมุนเวียนและลดค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้

P2P เป็นระบบการซื้อขายพลังงานระหว่างบุคคลกับบุคคล ที่เกิดขึ้นได้จากการกระจายกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบไร้ศูนย์กลาง โดยช่วยให้ผู้ใช้งานพลังงาน รายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดพลังงานในฐานะผู้ผลิตที่มักเรียกว่า "การผลิตโดยผู้บริโภค" หรือ Prosumer (Producer + Consumer) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยจะมีความคุ้มค่า และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มาก และถ้าหากมีระบบการซื้อขายพลังงานแบบ P2P ในประเทศไทยโดยผู้ที่มีระบบโซลาร์เซลล์สามารถขายพลังงานส่วนเกินให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ได้ จะช่วยลดระยะเวลาคืนทุน เพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานหมุนเวียนและลดค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น ราคาของระบบโซลาร์เซลล์ ระยะเวลาคืนทุน และความเป็นไปได้ในการซื้อขายพลังงานแบบ P2P

โดยระบบ P2P อาจช่วยลดระยะเวลาคืนทุนได้เร็วกว่าระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คาดว่าจะอยู่ที่ 4-8 ปี โดยในสภาพอากาศที่เหมาะสมแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานได้ระหว่าง 5.02-6.05 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลวัตต์ของแผงโซลาร์ หากใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 5 กิโลวัตต์สามารถผลิตพลังงานได้สูงสุดถึง 10,470.9 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือเทียบเท่ากับมูลค่าพลังงาน 44,187 บาทต่อปี (คิดอัตราค่าไฟฟ้า 4.22 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) แต่ในความเป็นจริงกำลังการผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์อาจลดลงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ ความชื้น และฝุ่นละออง

ขณะที่ระบบ P2P สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภคได้ระหว่าง 8.9-30% ต่อปี เนื่องจากการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น แผงโซลาร์ และระบบซื้อขายในชุมชนมีต้นทุนที่สูง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้บริโภคจากการคำนวณความคุ้มค่า และการนำระบบ P2P มาใช้เป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากยังต้องพัฒนากฎระเบียบ ลดต้นทุน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้งานให้ครบถ้วนก่อน

*ข้อดีของระบบการซื้อขายพลังงานแบบ P2P

1.ช่วยลดค่าไฟเพราะต้นทุนถูกลง จากการทดลองในโครงการ Quartierstrom ของมหาวิทยาลัยซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าค่าใช้จ่ายไฟลดลงได้ 8.9% แต่อาจจะลดได้สูงถึง 30% หากพิจารณาโครงการ Cleanwatts ในโปรตุเกส และ SonnenCommunity ในเยอรมนี

2.สามารถกระจายต้นทุนในการสร้างระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แทนที่จะให้รัฐบาลลงทุน 6.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาด 1 GW เพียงแห่งเดียว สามารถใช้เงินลงทุนจำนวนเดียวกันนี้เป็นส่วนลดภาษีหรือเงินอุดหนุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์แก่ครัวเรือนหนึ่งล้านครัวเรือนสำหรับผลิตพลังงานในปริมาณที่เท่ากันได้

3.ความเป็นอิสระด้านพลังงานที่เกิดจากการผลิตและบริโภคพลังงานด้วยตนเอง ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟฟ้าดับ หรือสายส่งขาด โดยมีแบตเตอรี่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้

*ข้อเสียของระบบการซื้อขายพลังงานแบบ P2P

1.ต้นทุนสูง แม้การลงทุนในพลังงานสะอาดจะนำมาซึ่งผลตอบแทนในระยะยาว แต่ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสูงเมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าจากระบบเดิม

2.ข้อจำกัดด้านการจัดเก็บพลังงาน เนื่องจากขาดแคลนแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้พลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องมีระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อรองรับความผันผวนของการผลิต

3.ความซับซ้อนทางเทคโนโลยี การใช้งานระบบ P2P อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น มิเตอร์อัจฉริยะ และ อุปกรณ์ IOT ดังนั้นการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำระบบ P2P ไปใช้งาน

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยจะมีความคุ้มค่าและสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากหากมีระบบ P2P โดยผู้ที่มีระบบโซลาร์เซลล์สามารถขายพลังงานส่วนเกินให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ได้ ช่วยลดระยะเวลาคืนทุน เพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานหมุนเวียนและลดค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภคได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ