นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ไว้ราว 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารฯ ยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกิน ที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)
พร้อมกันนี้ ธนาคารฯ ได้วางเป้าหมายในการช่วยเหลือสังคม โดยประเมินเป็นมูลค่าเม็ดเงินที่ส่งผลเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2) การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5) การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6) การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7) การพัฒนาชุมชน 8) การส่งเสริมการออม 9) การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10) การดูแลสิ่งแวดล้อม
"การที่ธนาคารฯ สามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit)" นายวิทัย กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่
1. บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด
2. บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (ARI-AMC) เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี
3. บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน "Good Money by GSB" ซึ่งจะเปิดตัวในต้นเดือนพ.ย.67 และพร้อมเปิดให้บริการได้ในต้นปี 68
4. บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังกล่าวถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า จากการศึกษาโมเดลของต่างประเทศในการจัดตั้ง Virtual Bank พบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินเอง ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank แต่จะใช้วิธีการปรับตัวให้เร็วในยุคของการเข้ามาของ Virtual Bank ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจการเงินเกิดการปรับตัวและพัฒนามากขึ้น
พร้อมมองว่า การเริ่มเข้ามาของธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย อาจจะมีผลกระทบกับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น และปรับตัวอย่างรวดเร็วให้พร้อมรับกับการแข่งขันในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งธนาคารออมสินเอง ที่เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เร็วเช่นกัน
"Virtual Bank จะทำให้คนที่มีไลเซนส์แบงก์อยู่แล้ว ปรับตัวเร็ว และเกิดการพัฒนามากขึ้น ทำให้เราต้องเร่งตัวเอง เราจะเป็นหนึ่งในแบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์ที่เร่งปรับตัวเร็วเรื่องดิจิทัล...Virtual Bank ในโลกนี้ส่วนมากยังไม่มีใครกำไร การตัดสินใจจะทำ หรือไม่ทำ Virtual Bank นั้น บอร์ดของเราตัดสินใจแล้วว่า เราจะใช้การปรับตัว และเชื่อว่าความแข็งแรงของเรา จะทำให้เรา survive ถ้าเราไม่ปรับตัวเรื่องดิจิทัล AI และ Digital Lending เราจะเหนื่อย" นายวิทัย กล่าว