นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าคาดการลดดอกเบี้ยไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการก่อหนี้เกินตัวขณะที่ส่งผลบวกต่อการลดภาระต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% จะทำให้ลดเงินผ่อนชำระสินเชื่อบ้านและรถยนต์รายเดือนลง โดยเฉพาะจะส่งผลบวกต่อผู้กู้เงินอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากที่สุด ส่งผลดีต่อผู้กู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงมากที่สุดในกรณีเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้อีกในช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยบรรเทาการเร่งตัวขึ้นของหนี้เสียสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยขณะนี้ปัญหาหนี้เสียลามมายังกลุ่มบ้านราคา 5-7 ล้านบาทซึ่งมักจะเป็นเจ้าของสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีปัญหากระแสเงินสด นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 3ล้านบาทโดยกลุ่มนี้มักจะเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินสูงรายได้ไม่พอรายจ่าย มียอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 60-70%
ปัญหาการหดตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ภาวะอุปทานส่วนเกินและอุปสงค์ภายในที่ชะลอตัว ส่วนแรงซื้อคอนโดและอาคารชุดจากต่างชาติยังขยายตัวได้โดยเฉพาะแรงซื้อจากกลุ่มรายได้สูงในประเทศเมียนมาร์ กิจการอสังหาริมทรัพย์จึงมีลักษณะเป็นการทยอยค่อยๆฟื้นตัว ในภาวะดอกเบี้ยเริ่มทยอยลดลง การเร่งระบายบ้านและคอนโดพร้อมขายในตลาด จะเป็นโอกาสของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์
การปล่อยสินเชื่อแบบยั่งยืนและรับผิดชอบของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติจะมีส่วนทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินและลดความเสี่ยงการก่อหนี้เกินตัวได้ การลดดอกเบี้ยแล้วทำให้ครัวเรือนหรือธุรกิจไปก่อหนี้เกินตัว เกิดหนี้เสียกระทบต่อระบบการเงินจึงไม่เกิดขึ้นหากมีการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ส่วนความพยายามลดระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่อยู่ในระดับสูงมากนั้นต้องใช้มาตรการและการดำเนินการเพิ่มรายได้ เพิ่มจีดีพี จึงทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาได้ โดยควรมีเป้าหมายให้ดึงลงมาต่ำกว่า 80% จากระดับ 88.5-89% ในขณะนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเคยไปทะลุระดับ 91% ในปี พ.ศ. 2566
ในระยะหนึ่งปีข้างหน้าสัญญาณของการด้อยคุณภาพอาจเริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมบวกกับการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังและมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติมช่วงปลายปีต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้ามีความจำเป็นที่ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นการบรรเทาปัญหาความลุกลามของหนี้เสียได้ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ทางการต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษโดยที่การขยายตัวของรายได้ต้องเกิดจากผลิตภาพที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ดอกเบี้ยลดลงจะส่งผลลบระยะสั้นต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูง ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงทันที อย่างไรก็ตามธนาคารจำนวนหนึ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสัดส่วนที่มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรักษากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่อาจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากเงิน แต่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารเหล่านี้ปรับตัวลดลงได้
การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินอย่างชัดเจน เห็นได้ชัดเจนจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น ทางเลือกเพื่อการลงทุนและการออมเงินในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เงินฝากจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
แนวทางการให้สินเชื่อแบบยั่งยืนและอย่างมีความรับผิดชอบจะทำให้เกิดประสิทธิผลได้เมื่อสถาบันการเงินต่างๆได้นำแนวปฏิบัติของแบงก์ชาติไปปรับใช้ในการปล่อยสินเชื่อ อันประกอบไปด้วย 1.มีเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบไม่มุ่งหาผลกำไรและก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อลูกหนี้ เจตนารมณ์นี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน
2.การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียตามหลักการ ESG 3.การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายในในการปล่อยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน 4. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การเงินดิจิทัลช่วยลดต้นทุนระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและประชาชน เพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการการเงิน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงิน จะทำให้ระบบการเงินเปลี่ยนผ่านจากระบบรวมศูนย์ เป็นระบบกระจายศูนย์ มากขึ้นตามลำดับ ระบบธนาคารกลางนั้นจะออกแบบโครงสร้างแบบ 2 ชั้น (Two-tier System) เพื่อให้ประชาชนที่ถือ Private Money สามารถแลกกลับมาเป็น Fiat Money ได้ ทำให้ประชาชนที่ถือเงินมีความปลอดภัยและเงินที่ถือมีสภาพคล่องสูง
เงินทั้งสองรูปแบบในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอกชน กับ บทบาทเงินภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพเชิงระบบในระบบนี้ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ ผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) อันเป็นกลไกค้ำประกันความมั่นคงของระบบการเงิน
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง(Decentralized finance ? DeFi) ขยายตัวและต้นทุนทางการเงินต่ำลงอย่างมาก การถือสกุลเงินดิจิทัลหรือการใช้ E-money เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้รับความนิยมมาก
ไทยนั้นติดอันดับต้นๆในการใช้ Mobile Banking และ การเงินแบบดิจิทัลไร้เงินสด ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศติดอันดับ 1 ใน 10 ที่เกิดภัยทางการเงิน มากที่สุดในโลก ฉะนั้นภาคการเงินของไทยจึงต้องยกระดับระบบความปลอดภัยทางออนไลน์ ระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปรกติแบบ near real-time เพื่อระงับธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเคลื่อนตัวสู่ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลางนั้นทำให้ Fiat Money อาจมีบทบาทลดลงในภาคการเงิน (Adrian & Mancini-Griffoli, 2021) หากเงินดิจิทัลไม่ว่าออกโดยเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) ดีขึ้น เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ดีขึ้น เป็นหน่วยในเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) ดีขึ้น อาจจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง
การออกเงินสกุลดิจิทัลรายย่อย (Retail CBDC) โดยธนาคารกลาง จะช่วยรักษาสมดุลระหว่าง Fiat Money กับสกุลเงินดิจิทัลทางเลือก ทำให้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงินลดลง นอกจากนี้ในประเทศใดที่มีความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารกลางและมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางย่อมทำให้อธิปไตยทางการเงินเข้มแข็งขึ้น
การเงินดิจิทัลนั้น ภาคการเงินโดยเฉพาะผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประทศไทยต้องสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินโดยยึดถือหลักการ 4 ประการ คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการการเงินโดยการทำให้การเข้าถึงการบริการทางการเงินดีขึ้นและถูกลง 2.เพิ่มการแข่งขัน เพื่อทำให้ราคาในการให้บริการทางการเงินลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ 3.มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลเพื่อให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสม เป็นธรรม มีความปลอดภัยสูง 4.โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้