นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากปัจจุบันที่ระดับ BBB+ มุมมอง Stable Outlook ว่า มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ ซึ่งความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้งก็ขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐานทางเศรษฐกิจ
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 ที่ทำลายสถิติ 10 ปี และหากรวมตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2565-2567 จะมีเม็ดเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าต่างประเทศยังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ และเม็ดเงินเหล่านี้จะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานตามมา มาตรการสนับสนุนการบริโภค รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนสำคัญอย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งค้างมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่จำเป็นเพราะจะช่วยทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเติบโตได้เป็นอย่างดี เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท
"เรื่องความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้ง ขึ้นอยู่กับข้อสมมติฐาน ถ้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3% ไปเรื่อย ๆ ตรงนี้มันก็จะมีผลไปถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้เอสเอ็มอี ที่การแก้ไขก็จะยาก เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง ๆ ตลอดจนหนี้สาธารณะ ซึ่งในระยะยาวรัฐบาลต้องการทำให้สมดุลให้ได้ แต่ในระยะสั้น ก็ต้องทำให้การขาดดุลสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้เมื่อการขาดดุลของประเทศเป็นแบบนี้แล้ว การแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้แค่ 1-2 ปี เพราะเราอาจจะไหวตัวช้าไปนิด ก็ต้องมาตกอยู่ในสภาพนี้ ก็ต้องยอมรับสภาพ แต่หลังจากนี้ก็ต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป" นายพิชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง การจะมาพูดว่าเศรษฐกิจโตที่ 2% กว่า แล้วอยู่ ๆ เติบโตแบบก้าวกระโดดไปที่ 4% คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องตัวเลขการเติบโตต่าง ๆ ต้องมีที่มาที่ไปที่ชี้แจงได้อย่างชัดเจนด้วย
นอกจากนี้ มองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะไม่ได้พิจารณาแค่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องความแน่นอน และความชัดเจนทางการเมืองที่จะถูกหยิบยกขึ้นไปพิจารณาด้วย ดังนั้นมองว่าหากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตามสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศได้ต่อเนื่องนาน ๆ ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยที่ดีกว่า ซึ่งส่วนตัวหวังว่าที่ผ่านมาประเทศไทยน่าจะได้เรียนรู้อะไรมาหลายอย่างแล้ว และคิดว่าน่าจะถึงจุดที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว
"เวลาผมทำงาน ผมก็กังวลทุกเรื่อง แต่ผมมานั่งคิดดูแล้ว ผมไม่เห็นว่าประเทศไทยจะมีอะไรด้อยกว่ามาเลเซียเลย อาจจะมีแค่เรื่องเดียวคือ ความชัดเจนของการลงทุนใหม่ หากเราสามารถทำตรงนี้ได้ ก็จะสามารถตอบได้ว่าในระยะต่อไปการลงทุนจะมาแน่ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าผมยังไม่เห็นอะไรเลย แต่เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็กำไรดี และจะได้เห็นอย่างอื่นดีตามมาในไตรมาส 4/2567 หากไม่เกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนนอกประเทศ ทิศทางเงินเฟ้อไม่ขึ้น หลายประเทศยังต้องการลดดอกเบี้ย สิ่งที่ตามมา คือตลาดทุนจะมีความตื่นตัว ทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในโลก ที่เราก็หวังว่าหลังจากนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีก" นายพิชัย กล่าว
ส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปีนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อลดดอกเบี้ยลงแล้ว ก็ดีใจแทนทุกคนด้วย เพราะคนที่มีหนี้ก็จะได้จ่ายหนี้น้อยลง ส่วนเรื่องค่าเงินบาท ก็จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทุกอย่างจะเกื้อหนุนกัน และทุกอย่างกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปี 2567 ในวันที่ 18 ธ.ค.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ ต้องดูตามสถานการณ์ แค่ กนง. ลดดอกเบี้ยให้ครั้งนี้ก็ดีใจแล้ว
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ
โดยข้อเท็จจริง "จากการเผยแพร่รายงานการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่จัดทำโดย บริษัท S&P Global (S&P) และบริษัท Moody?s Investors Service (Moody?s) ที่มีการเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 11 เมษายน 2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นรายงานบทวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่าที่ศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนดังกล่าวนำมาอ้างอิง
โดยได้ระบุถึงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับน่าลงทุน (Investment Grade) คือ ระดับ BBB+ หรือ Baa1 และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)"
ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนได้เผยแพร่บทวิเคราะห์และนำเสนอประเด็น "ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง" โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท Fitch Ratings เป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลในรายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงรายเดียว โดยที่ไม่มีการนำข้อมูลจากทั้งจาก S&P และ Moody?s มาพิจารณาประกอบการจัดทำบทวิเคราะห์ด้วย
ซึ่งทาง สบน. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแล และศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ภายหลังพบว่าได้แก้ไขปรับเปลี่ยนหัวเรื่องบทวิเคราะห์จาก "ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง จาก BBB+ หรือไม่" เป็น "ปัจจัยท้าทายความเสี่ยงเครดิตเรตติงไทย" เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 พร้อมกับได้เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของศูนย์วิจัยฯ แล้ว
อนึ่ง รมว.คลัง ได้ให้ สบน. ติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจผิด และความสับสนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ