นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องค่าธรรมเนียมรถติดหรือ "ภาษีรถติด" โดยถามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ที่มอบหมายให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นผู้ชี้แจงแทน
นายศุภณัฐ กล่าวว่าภาษีรถติด มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหารถติด โดยเป็นการเก็บภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เข้าในพื้นที่การจราจรคับคั่ง ซึ่งประเทศที่ดำเนินการในลักษณะนี้ จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีระบบคมนาคมขนส่งที่ดี เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ อิตาลี สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย อยากทราบว่าการเก็บภาษีรถติด เพื่อต้องการนำภาษีที่เก็บได้ไปเวนคืนรถไฟฟ้า หรือเพื่อนำไปแก้ไขปัญหารถติด เพิ่มจำนวนประชาชนให้ใช้ระบบขนส่งมากขึ้น
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า การจะแก้ไขปัญหารถติด ต้องโฟกัสที่การแก้ไขปัญหารถเมล์ ซึ่งนายสุริยะ เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนจะมีการเก็บเงิน และเวนคืนค่าสัมปทาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเดินรถของเอกชนที่ไม่ครอบคลุมตามที่ทำสัมปทานไว้กับรัฐ จนประชาชนต้องตัดสินใจขึ้นรถแท็กซี่แทน ดังนั้นจึงอยากถามว่า มั่นใจหรือไม่ ว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
"ทำไมกระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย ดูทรงแล้วเหมือนหาเงินให้กับเอกชน บริษัทนายทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถไฟฟ้า บริษัททางด่วน และอยากทราบว่า จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ฉบับครม. หรือฉบับพรรคเพื่อไทย เป็นหลักในการพิจารณา" นายศุภณัฐ กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ ชี้แจงว่า จากสถิติวันนี้ มีรถจำนวน 3.9 แสนคันต่อวัน ที่วิ่งในพื้นที่การจราจรคับคั่งในกทม. ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก และการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากผลการศึกษาพบว่า ใน กทม.มีสาเหตุหลักมาจากสันดาปของเครื่องยนต์ ดังนั้น ถ้าจัดการระบบรถติดได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน
รมช.คมนาคม กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาหาวิธีการซื้อคืนรถไฟฟ้าทั้งหมดเป็นของรัฐ แบบสายสีแดง และจัดการเดินรถแบบโมเดลสายสีแดง ส่วนการเก็บภาษีรถติด ยังเป็นเพียงแนวคิด และให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพไปศึกษารูปแบบและวิธีการ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี
ส่วนรถไฟฟ้าสายใดต้องจ่ายคืนเอกชนเท่าไรนั้น ก็จะรวบรวมอยู่ในผลการศึกษาด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าผลศึกษาจะออกเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขสมก. มีปัญหาจริง ซึ่งช่วงนี้เราอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูป
"ไม่อยากให้มองว่าหาเงินให้ใคร แต่เรามาทำหน้าที่ ต้องหาผลประโยชน์ให้ประชาชน บ้านเมืองมีกฎหมาย องค์กรอิสระคอยจัดการเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการให้ใครไปทำอะไรให้ใคร ซึ่งท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าทำไม่ได้ ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางที่ถามมานั้น เราจะใช้ร่างของครม.เป็นหลักในการพิจารณา" รมช.คมนาคม ระบุ