อุตฯ ปาล์ม จี้รัฐส่งเสริมการรับรองของ RSPO ยกระดับคุณภาพน้ำมันปาล์มไทยในตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 25, 2024 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัสนี มาลัมพุช ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (TASPO) และประธานสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการส่งออกน้ำมันปาล์มส่วนเกินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้น้ำมันปาล์มที่ผลิตในประเทศไทย ดึงดูดตลาด และมีคุณภาพสูง โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน มีคาร์บอนต่ำ และเป็นการค้าที่เป็นธรรม

พร้อมมองว่า การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกษตรกรรายย่อย เป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย โดยคิดเป็นประมาณ 85% ของการผลิต เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ถูกกำหนดให้เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยกว่า 50 เฮกตาร์ (312.5 ไร่) และประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) รวม 4 กลุ่มในปี 2555

"เกษตรกรต้องได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และไม่ให้บริษัทเอกชนครอบครองผลประโยชน์ทั้งหมด" ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย ระบุ

ปัจจุบัน การผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืนของประเทศไทย มีการเติบโตอย่างโดดเด่น จาก 348,027 ตัน ในปี 2562 เป็น 1,112,048 ตันในปี 2567 คิดเป็นกว่า 200% โดยศูนย์กลางการขยายตัวอยู่ในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช และพังงา พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองว่ายั่งยืน (CSPO) ของประเทศไทย ครอบคลุมถึง 57,336 เฮกตาร์ หรือ 358,350 ไร่ ซึ่งเป็นผลจากการให้ความสำคัญของการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนในประเทศ

ด้าน น.ส.รัฎดา ลาภหนุน ผู้จัดการด้านเทคนิค องค์การเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) กล่าวว่า การรับรอง RSPO ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงทรัพยากร โอกาสทางการตลาด และราคาพิเศษสำหรับทะลายปาล์มสด (FFB) ซึ่งช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับการรับรอง สามารถได้รับผลกำไรประจำปีสูงถึง 10.416 ล้านบาท (ประมาณ 287,401 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

นายเชาวลิต วุฒิพงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนศรีเจริญ กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน (โรงสกัดน้ำมัน) ผู้นำเกษตรกร และผู้ประสานงาน RSPO ประจำประเทศไทย ในการเสริมสร้างการสนับสนุน ผ่านการให้การศึกษาด้านปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน การสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่ม และการปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ กองทุนสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย RSPO (RSSF) ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เกษตรกรรายย่อยน้ำมันปาล์ม เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ได้รับประโยชน์จำนวน 5,274 ราย โดยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 12,658,792 บาท (ประมาณ 383,101 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

* "สุราษฎร์ธานี" ต้นแบบระดับประเทศ การผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน

น.ส. กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2565 RSPO จังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคีพันธมิตร 6 องค์กร ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อยกระดับพื้นที่สุราษฎร์ธานีให้เป็นเมืองต้นแบบปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย และเป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนที่ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี 2565

พื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง RSPO ในสุราษฎร์ธานี ได้เพิ่มขึ้นจาก 82,178 ไร่ เป็น 107,789 ไร่ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 31% การผลิตทะลายปาล์มสดที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นจาก 209,858 ตัน เป็น 283,818 ตัน โดยขณะนี้การรับรอง RSPO ครอบคลุม 12 อำเภอ มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจาก RSPO แล้ว 3,619 ราย โดย RSPO ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการรับรองไปยังพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในทุก 17 อำเภอของสุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเน้นย้ำความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกในงานการสัมมนาประจำปีของ RSPO (RT2024) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร โดยมีการเตรียมมอบการรับรอง RSPO ให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระอีก 30 กลุ่ม ในงาน RT2024

"การเติบโตนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์ม และส่งเสริมความยั่งยืนภายในภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์ม" น.ส.กาญจนา ระบุ

นอกจากนี้ สศก. มีแผนปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ด้วยวิสัยทัศน์ 20 ปี (61-80) "พัฒนาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม ไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจในอาเซียน" โดยเป้าหมายของแผนฯ ที่สำคัญ คือ 1. เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป้าหมาย 3.70 ตัน/ไร่ เพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันเป็น 23% 2. พัฒนาสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลขั้นต้น และขั้นสูง 3. การรองรับปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน มกษ. GAP พัฒนามาตรฐานโรงสกัดฯ ให้ได้คุณภาพ (Green Industry) และผลักดันมาตรฐานของไทยเป็นมาตรฐานสากล 4. เพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลสูงขึ้นเป็น B10 และ B20 และ 5. เชื่อมโยง SME กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มและโอเลโอเคมี ทั้งระบบ และผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศ CLMV และตลาดใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ