BAY มองกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.30-34.10 ลุ้นข้อมูลจ้างงาน-โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2024 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-34.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.79 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.10-33.83 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์

ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ช้ากว่าธนาคารกลางสำคัญแห่งอื่น ๆ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี แตะจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ท่ามกลางการปรับสถานะของนักลงทุนก่อนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย.

โดยผู้ร่วมตลาดคาดว่ามีโอกาสมากขึ้น ที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ จะคว้าชัยชนะ ทั้งนี้นโยบายด้านภาษีเงินได้ ภาษีศุลกากร และการกีดกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะกลาง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้น และพันธบัตรไทยสุทธิ 2,781 ล้านบาท และ 4,101 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค.ของสหรัฐฯ และโค้งสุดท้ายสู่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนมองว่ามีโอกาสสูงขึ้น ที่พรรครีพับลิกันจะสามารถคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยกระแส Red Sweep ดังกล่าว จะทำให้ทรัมป์ผลักดันนโยบายการคลังได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.25% ในวันที่ 31 ต.ค. ส่วนการเคลื่อนไหวอ่อนค่าทางเดียวของเงินเยน ได้เพิ่มความเสี่ยงของการแทรกแซงอีกครั้ง แต่ประเมินว่าทางการญี่ปุ่นอาจรอหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินเยนจากระดับปัจจุบัน สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า บีโอเจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. แม้พรรคแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาลของญี่ปุ่น จะได้คะแนนเสียงน้อยลงในการเลือกตั้งล่าสุด

ส่วนปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือกับ รมว.คลัง เพื่อตกลงเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อปี 68 โดย ธปท. ส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก หลังจากได้ปรับลดในการประชุมรอบล่าสุด อีกทั้งระบุว่าการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.25%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ