ส่งออก ก.ย.โต 1.1% ต่ำกว่าตลาดคาด แต่มูลค่าพุ่งใกล้ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ เกินดุล 2 เดือนติด มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2024 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออก ก.ย.โต 1.1% ต่ำกว่าตลาดคาด แต่มูลค่าพุ่งใกล้ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ เกินดุล 2 เดือนติด มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 2%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.ย. 67 โดยการส่งออก มีมูลค่า 25,983 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดโต 3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,589 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% ส่งผลให้ในเดือนก.ย.นี้ ไทยเกินดุลการค้า 394 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

"การส่งออกในเดือนก.ย.นี้ ได้รับปัจจัยบวก จากภาวะการค้าโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตตามรอบวัฎจักร ส่งผลดีต่อสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

ส่งออก ก.ย.โต 1.1% ต่ำกว่าตลาดคาด แต่มูลค่าพุ่งใกล้ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ เกินดุล 2 เดือนติด มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 2%

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 229,132 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5% โดยภาพรวมไทยยังคงขาดดุลการค้าที่ 5,956 ล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการ สนค. มั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ มีโอกาสจะโตเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปี ก็มีแนวโน้มจะทำ New High แตะที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ จากในปี 65 ที่เคยทำ New High ไว้แล้วที่ 287,000 ล้านดอลลาร์

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า หากพิจารณาการส่งออกเดือนก.ย. เป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าทุกกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • สินค้าเกษตร ขยายตัว 0.2% ที่มูลค่า 2,370 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ยางพารา, ข้าว และไก่แปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.8% ที่มูลค่า 1,973 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 2% ที่มูลค่า 20,831 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์

โดยตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยในเดือน ก.ย.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 29.3% อันดับ 2 สหรัฐฯ ขยายตัว 18.1% อันดับ 3 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 15% อันดับ 4 ออสเตรเลีย ขยายตัว 12% อันดับ 5 แคนาดา ขยายตัว 9.1% อันดับ 6 CLMV ขยายตัว 8.3% อันดับ 7 สหภาพยุโรป ขยายตัว 4.1% อันดับ 8 ตะวันออกกลาง ขยายตัว 3.5% อันดับ 9 ไต้หวัน ขยายตัว 3.2% และอันดับ 10 แอฟริกา ขยายตัว 1.6%

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทย ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาท ส่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทย และทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปของเงินบาทลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจจีน ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, การแข็งค่าของเงินบาท, ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดีย ที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล และฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี นอกจากนี้ แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า หากการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือ (ต.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 22,533 ล้านดอลลาร์/เดือน ก็มีโอกาสที่การส่งออกไทยทั้งปี 67 จะเติบโตได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% อย่างแน่นอน ขณะที่มูลค่าการส่งออก มีโอกาสทำ New high ไปแตะที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ได้

"ส่งออกยังเหลืออีก 3 เดือน ถ้าจะทำให้ทั้งปีนี้ โตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 2% นั้น แต่ละเดือนต้องทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 22,533 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำได้มากกว่า และปีนี้ เชื่อว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวม จะสูงถึง 290,000 ล้านดอลลาร์ น่าจะเป็นตัวเลข New High ของการส่งออกของประเทศ จากในปี 65 ที่เคย New High ไปแล้วที่ 287,000 ล้านดอลลาร์" นายพูนพงษ์ ระบุ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 68 นั้น ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.67 กระทรวงพาณิชย์ จะนัดประชุมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกในทุกกลุ่ม เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มการส่งออกของไทยสำหรับปีหน้า ซึ่งจะได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการส่งออกที่เป็น Working Target ต่อไปว่าจะตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ระดับเท่าไร

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ในความเห็นของภาคเอกชน มองว่าแม้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย.นี้ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% แต่ในแง่ของมูลค่า กลับดีกว่าที่คาดไว้ เพราะมีมูลค่าสูงเกินกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นเพราะสินค้าในทุกกลุ่มยังอยู่ในโมเมนตัมที่ดี

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 4/67 ก็ยังเชื่อว่าการส่งออกจะเติบโตได้สูงกว่าไตรมาส 3 และทำให้ทั้งปีนี้ เชื่อว่าการส่งออกไทย จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกยังมีความกังวลกับปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป คือ การขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถผ่านเข้าทะเลแดง และคลองสุเอชได้ ทำให้ต้องไปอ้อมเส้นทางที่แอฟริกา ซึ่งหากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ขยายวงรุนแรงมากไปกว่านี้ ก็เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะค่าระวางยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นปี และไม่มีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีเพียงพอรองรับกับปริมาณคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีได้

ส่วนมูลค่าการส่งออกทั้งปี 67 ทาง สรท. ก็เห็นสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ โดยเชื่อว่าจะทำ New High ทั้งในรูปของเงินดอลลาร์ที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ และในรูปของเงินบาท ที่ 10 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทที่ระดับล่าสุด (ปัจจุบันอยู่ในช่วง 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์) เรายังพอจะบริหารจัดการได้ แม้จะถือว่ายังอยู่ในระดับที่แข็งค่า หลังจากที่เราได้ปรับตัวกันมาสักระยะแล้ว ทั้งทำ forward และชักชวนให้มีการใช้ Local Currency" ประธาน สรท. ระบุ

ส่วนในปี 68 มองว่ายังมีปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการส่งออกของไทย ใน 2 เรื่องหลัก คือ 1. ผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ 2.ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะรุนแรงบานปลายเพิ่มขึ้นหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ