นายเวทางค์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษา โครงการศึกษา "Thailand Digital Outlook" ประจำปี พ.ศ. 2567 ว่า การดำเนินโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ. 2567 ดำเนินการศึกษาตัวชี้วัดด้านการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศไทย โดยอิงข้อมูลจาก OECD Going Digital toolkit และ กรอบ Measuring the Digital Transformation ของ OECD ซึ่งมีการสำรวจทั้งสิ้น 8 มิติ ประกอบด้วย 1. การเข้าถึง 2. การใช้งาน 3. นวัตกรรม 4. อาชีพ 5. สังคม 6. ความน่าเชื่อถือ 7. การเปิดเสรีของตลาด และ 8. การเติบโตและสภาพความเป็นอยู่
สำหรับในปี 2567 มีการนำเสนอตัวชี้วัดทั้งหมด 102 ตัวชี้วัด ซึ่งมีวิธีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผ่านแบบสอบถาม โดยสำรวจจำนวน 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยบริการปฐมภูมิรวมจำนวน 51,187 ตัวอย่าง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน
จากการสำรวจ พบว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ เช่น
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนในประเทศไทย อยู่ที่ 90.3% (21.7 ล้านครัวเรือน) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ 89.5% (21.0 ล้านครัวเรือน)
- ประชากรช่วงอายุ 16-74 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต คิดเป็น 90.7% (50.1 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ 89.5% (49.2 ล้านคน)
- แรงงานดิจิทัลที่ทักษะเฉพาะทาง เพิ่มขึ้นจาก 2.63 แสนราย เป็น 2.78 แสนราย โดยมีผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในอาชีพโปรแกรมเมอร์ และ ช่างเทคนิคปฏิบัติการด้าน ICT
- ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (บุคคลทั่วไปที่มีระดับรายได้ครัวเรือนอยู่ในช่วง 25% ที่ต่ำที่สุด) มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ 74.60% (12.12 ล้านคน) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 69.90% (11.23 ล้านคน)
- สัดส่วนจำนวนนักศึกษาจบใหม่ระดับอุดมศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 33.26% (101,411 ราย จากจำนวน 304,925 ราย) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 23.69%
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 20 นาที เพิ่มจากปีก่อนที่เฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง 25 นาที โดยพบว่า ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมทางการเงิน และการพักผ่อน/บันเทิง
สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ จะมีการซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเดิม 375 บาท/ครั้ง เป็น 428 บาท/ครั้ง โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เสื้อผ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือ
โดยช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ E-Marketplace เช่น Shopee Lazada ซึ่งผู้ซื้อสินค้าออนไลน์นิยมใช้ช่องทางนี้สูงถึง 95.98% (16,501 ราย จากผู้ตอบ 17,193 ราย) ตามมาด้วย Social Commerce ได้แก่ Tiktok, Line, Facebook อยู่ที่ 47.18% (8,111 ราย จากผู้ตอบ 17,193 ราย)
พร้อมกันนี้ ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ "การขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand)" โดยวิทยากรรับเชิญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้ร่วมกันพูดคุยหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์" ต่อไปในอนาคต