ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย. 67 ที่มีการกล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าจีน 60% และประเทศอื่น ๆ อีก 10-20% ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ตลอดจนอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก
หลังจาก Trade War รอบแรกผ่านมา 6 ปี สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้ากับจีนสูงในระดับสูง นับตั้งแต่เดือนก.ค. 61 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรา 301 (Unfair Trade Practice Section 301) ในการขึ้นภาษีสินค้าจีน ภายใต้มาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งหวังลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กันจีน
ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้ากับจีนในระดับสูงถึง 2.79 แสนล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 26% ของยอดขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ ในปี 66 ในขณะที่จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วน 14% ของการส่งออกโลก
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเปลี่ยนรูปแบบไป โดยมีประเทศที่ 3 อย่างอาเซียน และเม็กซิโก เข้ามาเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกเป็นอันดับ 1 แทนที่จีน และมีการนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มด้วย ในขณะที่จีนก็มีการตลาดส่งออกอาเซียนเป็นอัน 1 แทนที่สหรัฐฯ
จาก Trade War รอบแรก การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตราที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนที่ต่างกัน ดังนี้
- สินค้ากลุ่ม 1 ที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้าสูงสุดในอัตรา 25% ส่งผลให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากจีนมากที่สุด สินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น และกึ่งสินค้าขั้นกลาง อาทิ HDDs ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องบิน อุปกรณ์โทรศัพท์ อาหารสัตว์เลี้ยง เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ลดลงจาก 2.34 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 60 เหลือ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 66
- สินค้ากลุ่ม 2 ที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 7.5% เป็นสินค้าขั้นกลาง และกึ่งสำเร็จรูป อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตร และสิ่งทอ จากผลของภาษีที่ไม่สูงเท่ากลุ่มแรก ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าลดลงเล็กน้อย จาก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 60 เหลือ 0.9 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 66
- สินค้ากลุ่ม 3 ที่ยังไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมใน Trade War รอบแรก สหรัฐฯ จึงยังมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปในกลุ่มอุปโภคบริโภค อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กล้องดิจิทัล เกม ของเล่น และเฟอร์นิเจอร์ โดยในปี 66 มีมูลค่านำเข้า 2.12 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจาก 1.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ ปี 60
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า สินค้ากลุ่ม 3 ที่สินค้าจีนยังไม่โดนเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจาก Trade War ในรอบแรก แต่สหรัฐฯ ก็มีการนำเข้าจากแหล่งอื่นมากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากจีน สะท้อนว่าห่วงโซ่การผลิตโลกได้ปรับตัว รองรับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าไปแล้ว
โดยสหรัฐฯ ยังมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มที่ 3 เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้ด้วยต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกัน สงครามการค้า และโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายฐานการผลิตไปยังอาเซียน และกลุ่มความตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ซึ่งจะเห็นการนำเข้าของสหรัฐฯ จากเวียดนาม ไทย เม็กซิโก และอินเดีย เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่ม 3 นี้ อาทิ โซลาร์เซลล์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางล้อ ยารักษาโรค รถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ในขณะที่พรรคเดโมแครต มีแนวทางการกีดกันทางการค้ากับจีน โดยขึ้นภาษีสินค้าจีนแบบเจาะจงในกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ พรรครีพับลิกันจะเป็นการสานต่อ Trade War รอบใหม่ โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนแบบครอบคลุม นอกจากนี้ หากประเทศใดถอยออกจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์ฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มอีก 100% ทั้งนี้ หากเกิด Trade War รอบใหม่ สินค้าในกลุ่มที่ 3 ที่ยังไม่เคยโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสงครามการค้ารอบแรก จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีแนวโน้มจะเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก
สินค้าในกลุ่ม 3 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ที่ต้องพึ่งพาจุดแข็งในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำของจีน ซึ่งเวียดนาม และเม็กซิโก น่าจะได้รับประโยชน์มากสุด ดังนี้
- เวียดนาม ได้อานิสงส์ในสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม อย่างโน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หูฟัง ของเล่น และเฟอร์นิเจอร์
- เม็กซิโก ได้ประโยชน์ในกลุ่มรถกระบะ รถบรรทุกและชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์
- ไทย น่าจะได้อานิสงส์ในกลุ่มที่มีการลงทุนอยู่เดิม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ถุงมือการแพทย์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ PCA และของเล่น เป็นต้น
"นโยบายกีดกันทางการค้า Trade War รอบใหม่ของสหรัฐฯ แม้ว่าในทางปฏิบัติ จะได้รับคะแนนนิยมทางการเมือง และยังใช้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองกับจีนและนานาประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ทางการค้ามากที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มากเช่นกัน ยังไม่นับรวมกับผลกระทบกรณีมีการตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าจากหลายประเทศ ที่ยิ่งจะส่งผลกระทบทางลบที่มากขึ้นต่อทิศทางการค้า และเศรษฐกิจโลก" บทวิเคราะห์ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ไทยในฐานะเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ก็คาดว่าหากเกิดการย้ายฐานการผลิตอีกระลอก ไทยคงจะได้รับอานิสงส์เพียงบางส่วน เนื่องจากในสินค้ากลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมากที่สุดนั้น ไทยมีข้อได้เปรียบที่จำกัดจากเรื่องต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับเวียดนาม และเม็กซิโก