นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 รวม 2,180 เมกะวัตต์ (MW) โดยรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมไม่เกิน 600 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินอีกไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าเพื่อให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปขายยังกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ถูกกีดกันทางการค้า เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากโรงไฟฟ้าที่มีมลพิษสูง
การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มีล้นระบบอยู่มากถึง 50,625 MW ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) มีไม่เกิน 3% เท่านั้น และอีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50,000 MW หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับเพียงเท่านี้
"การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเป็นเพียงเล่ห์ฉลของรัฐบาลร่วมกับนายทุนพลังงานในการหาเหตุผลใหม่ ๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาขายไฟให้รัฐเท่านั้น โดยไม่มีการยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าเก่าแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ แต่ก็ถูกกีดกันออกไปจนไม่สามารถเข้ามาผลิตแทนในราคาถูกได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าที่แพงจากเอกชนถูกนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในค่าเอฟที ทุกบิลเก็บค่าไฟฟ้าทั่วประเทศนั่นเอง" นายศรีสุวรรณ ระบุ
กรณีดังกล่าวอาจทำให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพงจึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนต่อสมาคมฯ ให้ช่วยฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับและยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนพลังงานดังกล่าวเสีย โดยสมาคมฯ จะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 30 ต.ค.67 เวลา 10.00 น.