กยศ. หวังปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ จูงใจลูกหนี้กลับมาชำระคืนมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2024 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เชื่อว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมายใหม่ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้กลับมาชำระคืนหนี้ กยศ. เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมาตรการจะมีการจัดลำดับการตัดหนี้ใหม่ โดยจะตัดเงินต้นก่อน จึงจะตัดดอกเบี้ยและตัดดอกเบี้ยค้างชำระ ซึ่งส่วนนี้จะมีผลให้ภาระการผ่อนต่อเดือนของลูกหนี้กยศ. ลดลง และจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ปัจจุบัน สถานะของกยศ. โดยเฉพาะสภาพคล่องนั้น ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ เพราะมีการชำระหนี้กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังสามารถหมุนเวียนได้เป็นปกติ โดยในปีงบประมาณ 2568 กยศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2569 ต้องขอรอดูสภาพคล่องของกองทุนก่อนว่า จำเป็นจะต้องมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณหรือไม่

"ในปีงบประมาณ 2569 ต้องดูสภาพคล่องก่อนว่าจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณหรือไม่ ซึ่งหากจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณก็จะขอให้น้อยที่สุด และอยากบอกว่าสิ่งที่กยศ. ทำอยู่ คือการให้โอกาสทุกคน และใช้ไม้อ่อนที่สุดแล้ว อยากให้ทุกคนกลับมาใช้หนี้เพื่อส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้กับรุ่นน้อง ส่วนการบังคับคดี ยืนยันว่า กองทุนจะทำในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น คดีจะขาดอายุความ ส่วนกรณีอื่น ๆ จะไม่ไปตามฟ้อง หรือยึดทั้งสิ้น" นายลวรณ กล่าว

ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกยศ. กล่าวว่า ภาพรวมการรับชำระหนี้คืนของกยศ. ในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ราว 25,000 ล้านบาท ขณะที่มีอัตราการให้กู้ยืมสูงสุดที่ 51,000 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าในปีงบประมาณ 2568 จะมีอัตราการชำระคืนเพิ่มสูงขึ้นราว 10% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นกลไกให้ผู้กู้ยืมกลับมาชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น

โดยปัจจุบัน มีลูกหนี้ของกยศ. ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้แล้วราว 200,000 ราย คิดเป็น 10% จากลูกหนี้ทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปีต่อ ๆ ไปลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้มากขึ้น ส่วนรายที่ไม่ได้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากยังสามารถชำระหนี้และผ่อนในอัตราเดิมได้อยู่

"ที่ลูกหนี้กยศ. เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ไม่มากนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมาตรการเพิ่มเติม โดยต่อไปกองทุนจะใช้ช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้สะดวกมากขึ้น เช่น ช่องทางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือกลไกอื่น ๆ ที่ให้ลูกหนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันใช้วิธีเดินสายออกไปทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคิดว่าจะต้องมีช่องทางอื่นเข้ามาเสริม" นายชัยณรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ