นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊ก โดยเรียกร้องให้ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธาน
นายธนาธร ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงเกินไป โดยรอบนี้ไม่มีการเปิดประมูลเพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งหากดำเนินการต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ การจัดซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ใช้ราคาและหลักการเดียวกับการจัดซื้อ 5,200 เมกกะวัตต์ในปี 2565 สมัยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดซื้อครั้งนั้นมีเอกชนเสนอขายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการซื้อถึง 3.3 เท่าตัว (ต้องการซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ เอกชนเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์) แสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อสูงเกินกว่าราคาตลาด จึงมีเอกชนสนใจเสนอขายจำนวนมาก
จากการประเมินเบื้องต้น หากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน รัฐจะจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นหากเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมถึง 66,000 ล้านบาท (พิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน)
นายธนาธร ระบุว่า ในฐานะที่น.ส.แพทองธาร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงขอให้ทบทวนนโยบายการจัดซื้อ 3,600 เมกะวัตต์นี้เสียใหม่ โดยการประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และลงนามในสัญญาปีหน้า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความเป็นธรรม
แต่หากต้องการดำเนินนโยบายนี้ต่อ ก็ขอให้เปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันกัน ไม่ใช่กำหนดราคาตายตัวเช่นเงื่อนไขปัจจุบันหรือเงื่อนไขแบบ 5,200 เมกะวัตต์ของปี 2565 หรือขอให้ปรับไปใช้กลไก Direct PPA ที่มีอยู่ที่เปิดให้ผู้ผลิตซื้อขายกับผู้ใช้ได้โดยตรง
อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้ตอบกระทู้สดของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เห็นด้วยว่าเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้ามีข้อบกพร่อง และรับปากกับสภาผู้แทนราษฎรว่าจะทบทวนการซื้อพลังงานครั้งนี้
นายธนาธร ระบุต่อว่า นายกรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่าพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่ต้องการจะลดราคาพลังงาน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการพลังงานเช่นกัน การรับซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์ ที่ กกพ.กำลังทำอยู่นี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย
"ค่าไฟแพงไม่ใช่ความบังเอิญ และไม่ใช่ผลจากการแข่งขัน แต่มาจากนโยบายรัฐ 20 ปีที่ผ่านมาที่ปล่อยให้นโยบายพลังงานสร้างกลุ่มทุนพลังงานที่รวยเป็นแสนล้านขึ้นในประเทศไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นมหาศาล รัฐออกนโยบายเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด ส่วนประชาชนต้องแบกรับผลกระทบในฐานะเป็นคนจ่ายค่าไฟ วันนี้นายกฯ มีอำนาจที่จะพิจารณาชะลอ หยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัตินี้ หวังว่านายกฯ จะใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน"นายธนาธร ระบุ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กล่าวว่า รายละเอียดเรื่องนี้ได้พูดคุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และมีการตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการ โปร่งใส ประชาชนรับรู้ได้ และเข้าใจได้แน่นอน เพราะนั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย