นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เข้าพบน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้รับบัญชาจากนายกฯ ให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน 4 เรื่อง ประกอบด้วย แก้ปัญหาสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ, เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA), การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ รวมถึงการปิดบัญชีบริษัทม้าที่เชื่อมโยงกับบัญชีม้า
โดยในวันที่ 30 ต.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายนัดแรก เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณามาตรการแก้ปัญหาเพิ่มเติมต่อไป
ส่วนการเจรจา FTA นั้น FTA ที่คาดเจรจาจบในปีนี้ คือไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่ทำ FTA กับ EFTA และยังมีที่กำลังเจรจาอีกหลายประเทศ ทำให้ภายในรัฐบาลนี้จะสรุปผลการเจรจาได้อีกหลายฉบับ รวมมากกว่า 10 ประเทศ จากปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับกับ 18 ประเทศ
ขณะที่การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนั้น ตนได้คิกออฟระบบการให้บริการส่งออกสินค้ามาตรฐาน "OCS Connect" ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% ช่วยลดเอกสารที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และรองรับการชำระค่าธรรมเนียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที
ส่วนเรื่องการปิดบัญชีบริษัทม้า ที่เชื่อมโยงกับบัญชีม้านั้น ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หารือร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งทราบว่า มีนัดหมายกันในวันที่ 31 ต.ค. นี้ เบื้องต้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะชะลอจดทะเบียนนิติบุคคลให้กับบุคคลที่อยู่ในบัญชีความเสี่ยง และเพิ่มความเข้มงวดในการรับจดทะเบียนด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น ให้บุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยตามประกาศรายชื่อ HR 03 ของปปง. ต้องมาแสดงตนต่อหน้านายทะเบียน เป็นต้น
ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ เตรียมเสนอความคืบหน้าการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการกำกับดูแล และการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้กับสินค้านำเข้า และธุรกิจของคนต่างชาติ เช่น การป้องกันและปราบปรามกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ให้ทำธุรกิจในไทยโดยหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
"ล่าสุด กรมฯ ได้ส่งธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นนอมินี 4 รายให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ดำเนินการต่อแล้ว ซึ่งจะมีทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวข้อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต ธุรกิจร้านอาหาร พร้อมกับส่งธุรกิจที่เข้าข่ายทำผิดพ.ร.บ.บัญชีให้กรมสรรพากรดำเนินการต่ออีก 70 ราย ขณะเดียวกัน ยังได้ตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินีเพิ่มเติมอีกตามที่ประชาชนและภาคเอกชนร้องขอ ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าเหล็ก ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจเช่าคลังสินค้า เป็นต้น หากพบเข้าข่าย ก็จะส่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป" นางอรมน กล่าว