รมว.คลัง แถลงหลังพบผู้ว่า ธปท. จี้ออกมาตรการหนุนศก.โตดันเงินเฟ้อเข้าจุดเหมาะสม 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2024 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงกรอบนโยบายการเงินปี 2568 ว่า สิ่งที่ได้หารือกันในวันนี้ ธปท.มีความเข้าใจในเจตนาและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่ง ธปท. เองก็มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการทำนโยบายการเงิน รวมถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

รมว.คลัง กล่าวว่า การกำหนดกรอบเงินเฟ้อนั้น หากจะยังอยู่ที่ 1-3% ก็รับได้ เพียงแต่ทั้ง ธปท. และ กนง. จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม และใกล้เคียงค่ากลางที่ 2%

"ผมไม่ว่าอะไร จะเป็น 1.5% หรือ 3.5% ก็ไม่มีผล ถ้าของจริงออกมาต่ำกว่า 1% ก็ค่าเท่ากัน ดังนั้นผมรับได้ ถ้าจะอยู่ 1-3% แต่ทั้งนี้ กนง. และแบงก์ชาติต้องมีมาตรการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่จุดที่เหมาะสม ใกล้เคียงค่ากลาง เช่น 2%...แต่ถ้ามันต่ำกว่า 1% ช่วยทำมาตรการอื่นเพื่อช่วยให้เงินเฟ้อขึ้นไปได้ไหมที่ 2% จะตัดสินใจอย่างไรไม่ว่า เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องการการลงทุน รัฐบาลผลักดันอยู่แล้ว เมื่อมีการลงทุน ปัจจัยที่อยากทำให้เกิดการลงทุน คืออัตราดอกเบี้ย การกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุน ต้องมาดูเรื่องดอกเบี้ย จะขึ้นหรือลง ท่านจะรุ้ว่าควรสนับสนุนอย่างไร เราคงไม่บอกว่าจะขึ้นจะลงอย่างไร ถ้าอยากสนับสนุนเศรษฐกิจ ก็ต้องดูทั้งปัจจัยต่างประเทศ ดูว่าควรจะลงหรือขึ้น อย่าไปถามผู้ว่าฯ เลยว่างวดหน้าจะขึ้นหรือลง" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ธปท. จะต้องกลับไปพิจารณาเงื่อนไขทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องเร่งสรุปให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยยืนยันว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องเดินควบคู่กันไปได้ เพราะที่ผ่านมาไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโตไม่สูง โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ ส่วนปี 2568 คาดว่าจะโตได้ถึง 3% บวกลบ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ก็ควรจะทำ และเชื่อว่า ธปท. จะเข้าใจในเจตนาและนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะต้องมีการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. อีกรอบ ซึ่งอาจเป็นการหารือในวงเล็ก ซึ่งเชื่อว่าในครั้งหน้าคงจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน "เหลืออีกครั้ง ครั้งหน้าคงจบได้ อาจเป็นการประชุมวงเล็ก...กรอบเงินเฟ้อ 1-3% ไม่ใช่ประเด็น ธปท. คงต้องทำนโยบายมาเสนอ เพื่อที่เราจะได้ทำนโยบายการคลังให้สอดคล้อง" รมว.คลัง ระบุ

รมว.คลัง ยังเห็นว่านโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเอื้ออำนวยและสอดคล้องเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากเรื่องนี้หลายประเทศก็มีการพิจารณาเพื่อให้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มีการเข้าไปแทรกแซงให้เสียในหลักการ โดยอยากให้ ธปท. ไปพิจารณาว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยสอดคล้องกับต่างประเทศ และสามารถแข่งกับคู่แข่งได้หรือไม่

"นโยบายการเงินบางประเทศไม่ได้พิจารณาแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณานโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งผมอยากใช้นโยบายเหล่านี้ควบคู่กันไป เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน ในการช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาตลาดในประเทศ 70% ตลาดส่งออก 30% บางอย่างพึ่งพาการส่งออกถึง 50% ดังนั้นสะท้อนว่าบ้านเราชอบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่อยากบอกว่าต้องอ่อนค่าไปถึงแค่ไหน โดยอยากให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ นั่นหมายถึงมาตรการด้านการเงินใด ๆ ที่จะออกมาจะต้องดูให้ครบทั้งหมด ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะต้องมีองค์ประกอบที่สนับสนุนการลงทุน ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การแก้หนี้ กำกับดูแลสถาบันการเงิน เหล่านี้ต้องออกมาเป็นแพคเก็จ" นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ยังมีอีกเรื่องที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามทำเรื่องนี้อย่างบูรณาการและให้ตกผลึกภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภค ที่หากทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านการขอสินเชื่อใหม่ ๆ ได้ โดยมองว่าวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ มาตรการด้านการคลังและมาตรการด้านการเงินจะต้องเดินไปด้วยกัน เราไม่พยายามแก้ปัญหาไปคนละทาง แต่พยายามจะมองให้เห็นปัญหาเดียวกัน เห็นเรื่องเดียวกัน และอยากให้ประเทศมีการเจริญเติบโตเหมือนกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ