คลัง หวัง "นโยบายการเงิน" ช่วยออกแรงหนุนศก. หลังเดินนโยบายการคลังเต็มสูบแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2024 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง หวัง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง มีความต้องการให้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังทำงานได้สอดประสานกัน เพื่อผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปี 2568 ขยับขึ้นสู่ระดับ 2% และช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยว่า ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าใจตรงกันว่า ที่ผ่านมานโยบายการคลังเร่งทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ซึ่งส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ และการจัดการด้านการคลังในอนาคต

ดังนั้นนโยบายด้านการคลังอาจจะต้องกลับมาทำงานในระดับปกติ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอ่อน ๆ เท่านั้น เนื่องจากขนาดการคลังมีข้อจำกัด แม้จะมีการใช้เครื่องมือกึ่งการคลัง แต่ก็มองว่าในระยะข้างหน้าก็ต้องลดลง เพราะมีผลต่อภาระการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้นนโยบายการเงิน จะต้องรับไปดูว่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัวเรือนภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างไร ดังนั้นวิธีการใช้เครื่องมือทางการเงิน จึงอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

"ผลกับเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลัง มีความเร็วที่แตกต่างกัน โดยผลจากนโยบายการคลังจะเร็วกว่า แต่ก็จะมีผลอยู่ได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นโยบายด้านการเงิน จะใช้เวลาราว 6-8 ไตรมาส ที่จะส่งผ่านผลของมาตรการผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจก็คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร ราว 1 ปีครึ่ง แต่ผลจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเรื่อย ๆ และจะเต็มศักยภาพในไตรมาส 1 ปี 69" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ

ขณะที่นโยบายด้านการคลัง ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ได้กำหนดการขาดดุลงบประมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2568 ตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ 3.752 ล้านล้านบาท ขาดดุลอยู่ที่ 4.5% ต่อ GDP ขณะที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 65-66% ต่อ GDP ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ส่วนปี 2569 ได้ตั้งเป้าหมายขาดดุลอยู่ที่ 3.5% ต่อ GDP

"ธปท. มีหน้าที่ในการดำเนินการ และดูแลนโยบายการเงิน ความมั่นคงของสถาบันการเงิน แต่ก็ต้องคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย หากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังสามารถทำงานร่วมกันได้ ผลที่ออกมาน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลังจากหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคลังและ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา ก็เห็นตรงกันว่าจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะนำเสนอให้ นายกรัฐมนตรี พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี และมาตรการของขวัญปีใหม่ ในการประชุมส่วนราชการวันที่ 4 พ.ย.นี้" นายพรชัย ระบุ

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า การคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ไว้เท่าเดิมที่ 2.7% นั้น หากไม่มีปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดเข้ามา ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 2.7% จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเบื้องต้นประเมินว่าอยู่ที่ราว 4,000 ล้านบาท

"หลัก ๆ อยู่ในภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังไม่สามารถสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนได้" นายพรชัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ