แนะรัฐบาลระวัง! สังคมจับตาเลือก "ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ" ต้องอิสระจากการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2024 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แนะรัฐบาลระวัง! สังคมจับตาเลือก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้แสดงความเป็นห่วงการถูกครอบงำและการเมืองเข้ามาแทรกแซงการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นที่สามารถทำได้ เพราะอาจจะเกรงว่าหากรัฐบาลใช้กลไกทางการเมืองเข้ามาเป็นแรงกดดัน จะส่งผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท. ไม่มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่

ดังนั้น กระบวนการในการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องมีความเป็นอิสระ แต่จะต้องไปดูว่าเป็นอิสระในรูปแบบไหน ถ้าความอิสระมาจากทางการเมือง ก็ต้องไปดูว่าบุคคลที่จะเข้ามาในส่วนนี้ ไม่มีเงื่อนไขผิดคุณสมบัติกระบวนการสรรหา ก็น่าจะสอดคล้องและเหมาะสม แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข ก็มีโอกาสสูงที่บุคคลที่มาจากทางการเมือง จะถูกทำให้เป็น "โมฆะ" ได้

ขณะเดียวกัน บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งใน ธปท. จะต้องสวมหมวกในการทำหน้าที่เพื่อหน่วยงาน ดังนั้นส่วนตัวมองว่า เรื่องการสรรหาในส่วนนี้ จะยังมีกลไกทางสังคมหลายอย่างที่สามารถตรวจสอบได้

"ข้อห่วงใยของอดีตผู้ว่าฯ ธปท. และนักเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นข้อห่วงใยที่สำคัญ เพราะต่างก็มองว่าเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ และกระบวนการทำงานของ ธปท. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นานาชาติ ยอมรับบทบาทของการเป็นธนาคารกลาง ดังนั้นจึงมองว่าการส่งหนังสือดังกล่าว จึงเป็นการส่งสัญญาณที่จะแสดงให้รัฐบาลต้องพึงระวังในเรื่องนี้ โดยกระบวนการสรรหาคนที่จะสามารถเข้ามาทำงานตรงส่วนนี้ได้ จะต้องมีอิสระจากภาครัฐ มีความเป็นกลาง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ออกมาเป็นกลาง ดังนั้นเชื่อมั่นว่าการสรรหาตำแหน่งดังกล่าว จึงไม่น่าจะใช่เรื่องที่น่ากังวลจนเครียด ว่ารัฐบาลจะส่งคนเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. มองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ธนาคารกลางมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน จึงต้องมีความเป็นอิสระในการทำงานจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลก็มีเป้าหมายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วไป แรงไป ธนาคารกลางของทุกประเทศก็มีหน้าที่จะต้องใช้กลไกของอัตราดอกเบี้ย กลไกทางการเงินในการควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจโตเร็ว หรือโตร้อนแรงจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นผลร้ายกับเศรษฐกิจ

"ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่ธนาคารกลางทุกประเทศ จะเน้นเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นตัวตั้ง" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทย จะเห็นว่ารัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท. มีความเห็นไม่สอดคล้องกันหลายครั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดความห่วงใยว่า หากรัฐบาลกดดันหรือสั่งการให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแทรกแซงโดยรัฐ จุดนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า สำหรับเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น จึงเริ่มส่งสัญญาณไปที่นโยบายการเงิน เพื่อให้ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง ว่า ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังเห็นพ้องกันว่าจะยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เช่นเดิม แม้ว่ากระทรวงการคลัง จะต้องการให้เงินเฟ้อขยับขึ้นเป็น 2% นั้น ก็สามารถอนุมานได้ว่ากระทรวงการคลัง มีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นจริง จึงอยากเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินเข้ามาช่วยเสริม

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนหนึ่งเพื่อดูแลเรื่องเงินเฟ้อ และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นต่อไป แต่ในระยะถัดไป ธปท. ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่ใช่จุดที่เป็นความเห็นร่วมกัน และเป็นการแสดงความเป็นอิสระในการทำงานของ ธปท. ด้วย

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นั้น สะท้อนว่านโยบายการคลังที่ออกไปผ่านมาตรการเติมเงิน 10,000 บาท วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท และนโยบายลดราคาสินค้า 1.1 แสนล้านบาท ยังไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดฟื้นขึ้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงอาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายการคลังผสมผสานไปกับนโยบายการเงิน เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ