นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 สบน. มีแผนจะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธสัญญาในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)
ทั้งนี้ เพื่อให้คุณสมบัติของพันธบัตรดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานสากล สบน. จึงได้จัดทำกรอบการระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืนที่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) โดยได้รับการตรวจสอบ และรับรองจาก DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้ความเห็นอิสระระดับสากล (Second Party Opinion) ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของกรอบการดำเนินงานของ สบน.
โดยกรอบการระดมทุนครอบคลุมถึงการกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน เงื่อนไข และรายละเอียดของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน แนวทางและหลักเกณฑ์ในการวัดผล และรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนของพันธบัตรดังกล่าวด้วย โดย KPIs หลัก ได้แก่
1.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และป่าไม้) ต้องมีเป้าหมายไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี 2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก 30% จากค่า Business As Usual (BAU))
2. ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่ง และรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) ซึ่งมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี 2573
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สำหรับลักษณะพิเศษเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน จะแตกต่างจากพันธบัตรทั่วไป โดยระดับความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนด จะเป็นปัจจัยกำหนดการปรับอัตราดอกเบี้ย คือ ในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น หรือในกรณีที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง
"โดยหาก SPT 1 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% และหาก SPT 1 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025% แต่หาก SPT 2 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% หาก SPT 2 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025%" นายพชร ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งนี้ สบน. จะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่น SLB406A อายุ 15 ปี ในวงเงิน 20,000 - 30,000 ล้านบาท ผ่านผู้จัดจำหน่าย 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) โดย สบน. จะดำเนินการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) ในวันที่ 19 พ.ย. 2567 และเสนอขาย (Issue Date) ในวันที่ 25 พ.ย. 67 และจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกงด้วย