ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.21พ.ค.นี้ คงอาร์/พีที่ 3.25% ตามเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 16, 2008 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คา่ดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ซึ่งจะเป็นการประชุมรอบที่ 4 ของปีน่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% เนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Price Index: CPI) ทั่วไปและพื้นฐาน ปรับตัวสูงขึ้นชัดเจนในเดือน เม.ย.51 รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิต(Producer Price Index: PPI) ที่ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในเดือน เม.ย.51 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลหลักมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ผลักดันราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ตลอดจนต้นทุนการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น 
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย(Headline CPI Inflation) เดือน เม.ย.51 สูงสุดในรอบ 23 เดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอาจยังมีแนวโน้มปรับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการซึ่งภายใต้การควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการขออนุมัติปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าโดยสาร สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งจากการอนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและตามมาด้วยการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในระยะถัดไป แม้ว่าจะเป็นมาตรการของภาครัฐที่น่าจะช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชนท่ามกลางค่าครองชีพสูงเช่นปัจจุบัน แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และบางรายอาจอาศัยจังหวะเวลานี้ขยับขึ้นราคาสินค้าไปรอก่อนล่วงหน้า
แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่อาจจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก กอปรกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน น่าที่จะยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ที่ 0-3.5% ตลอดระยะที่เหลือของปี 51 แต่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของประเทศและคงจะเป็นน้ำหนักที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในรอบที่จะถึงนี้และในรอบถัดๆ ไป
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 51 คงจะอยู่ในช่วง 5.0-5.8% เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปีก่อน ทำให้โอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะมีจำกัดลงโดยเฉพาะในระยะใกล้ ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อก็คงจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วเช่นกัน เพราะอาจจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซึ่งเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 51 อาจยังสามารถจะเติบโตได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าในปี 50 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.9% เทียบกับที่ขยายตัว 4.8% ในปี 50 โดยมีแรงหนุนมาจากการส่งออกที่ยังเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ แม้อาจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และจากรายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุดของรัฐบาลที่คาดว่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศ ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความจำเป็นที่ กนง.จะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบันคงจะมีจำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ