นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง มอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต โดยต้องการให้กรมสรรพสามิต ทำหน้าที่เป็นกลไกและรักษาสมดุลด้านภาษีระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ธรรมาภิบาล และรายได้การจัดเก็บ
1. ยานยนต์ : ใช้กลไกภาษีกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid (PHEV), รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลเชื้อเพลิง (FCEV) ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ
แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) และรถยนต์ไฟฟ้า Hybrid (HEV) ไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิต สามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้
2. น้ำมัน : กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิตจากน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิต ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน
"ยืนยันชัดเจนว่า การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่จะแทรกอยู่ในภาษีน้ำมันนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแม้แต่บาทเดียว โดยจะแบ่งสัดส่วนชัดเจน คือ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง และใส่ภาษีคาร์บอนเข้าไป เช่น น้ำมัน 1 ยูนิต เสียภาษีสรรพสามิต 6 บาท เราจะทำให้ภาษีสรรพสามิตลดเหลือ 5.5 บาท และอีก 0.5 บาท คือภาษีคาร์บอนที่จะใส่เพิ่มเข้าไป แต่รวมแล้วอัตราภาษีสรรพสามิตจะอยู่ที่ 6 บาทเท่าเดิม จึงไม่กระทบกับราคาขายปลีกของสินค้าพลังงาน ซึ่งกลไกนี้จะนำไปสู่การมีพลังงานที่สะอาดขึ้น นำไปสู่แรงจูงใจในการบริโภคน้ำมันที่สะอาดขึ้นด้วย โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาขั้นสุดท้าย คาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในไม่ช้า" นายเผ่าภูมิ กล่าว
3. สุขภาพประชาชน : ใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนการแพทย์เชิงป้องกัน ลดการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานแบบผสมต่อเนื่อง และเข้าสู่เฟส 4 ตามกำหนดเวลา
โดยให้กรมสรรพสามิต ศึกษาพิจารณากลไกภาษีโซเดียมในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม รวมทั้งภาษีไขมัน เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียม และไขมัน ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว
"เรื่องภาษีโซเดียม จะต้องให้ไปพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และจะใช้กับสินค้าใดก่อน โดยอาจจะเริ่มเก็บภาษีกับสินค้าที่กระทบประชาชนน้อยที่สุด ส่วนสินค้าที่มีผลต่อการดำรงชีพ จะมีการพิจารณาในขั้นต่อ ๆ ไป เช่นเดียวกับภาษีไขมัน เพราะบนฉลากอาหารยังไม่ได้มีการระบุว่ามีไขมันดี และไขมันไม่ดีเท่าไร ก็ต้องไปร่วมกับสาธารณสุข เพื่อดูในส่วนนี้อย่างละเอียด" รมช.คลัง ระบุ
4. แบตเตอรี่ : ให้ศึกษาการพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ EV
5. บุหรี่ : ให้จัดเก็บภาษีแบบผสม โดยพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติดตามบุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษี และแหล่งที่มาของบุหรี่ เพื่อมั่นใจได้ว่าได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต
นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66 - ก.ย.67) ว่า กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 5.23 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.8% สะท้อนถึงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยจะเห็นได้จากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้า และบริการ ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภาษีเครื่องดื่ม ขยายตัวสูงถึง 8% ภาษีกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ (ไนท์คลับ และดิสโก้เธค) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 31.3% และภาษีสนามกอล์ฟ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 12.4% ส่วนการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ สูงขึ้นกว่าปีก่อน 15.6% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า