รฟท. เดินหน้าเพิ่มรายได้ ส่งมอบสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ SRTA บริหาร เล็งเจรจาเซ็นทรัลต่ออายุสัญญา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 6, 2024 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รฟท. เดินหน้าเพิ่มรายได้ ส่งมอบสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ SRTA บริหาร เล็งเจรจาเซ็นทรัลต่ออายุสัญญา

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา ประกอบด้วย

1.สัญญาฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,856 สัญญา

2. สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จำนวน 6,369 สัญญา

3.สัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 8 สัญญา

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟฯ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่และเจรจากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการ ตลอดจนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่นมาพัฒนาและบริหารจัดการ

ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับการรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญา 5% ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา ซึ่งรฟท.ตั้งเป้าหมายรายได้ในระยะแรกเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท

สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ที่ใกล้จะหมดสัญญา เช่น ที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ซึ่งจะครบธันวาคม 2571 ซึ่งเมื่อต้นปี 2567 บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ได้ทำหนังสือถึงรฟท.แจ้งความประสงค์ขอต่อสัญญา ซึ่งเซ็นทรัลได้สิทธิ์ในการเจรจา แต่จะต่อหรือไม่ ต้องขึ้นกับการเจรจา โดยสัญญาเซ็นทรัล รฟท.ได้ส่งมอบให้ SRTA แล้วซึ่ง SRTA มีหน้าที่ไปเจรจา นอกจากนี้ ยังมีที่ดินที่ครบสัญญาแล้ว และกำลังจะหมดสัญญา มีประมาณ 500 สัญญาที่ SRTA จะต้องดำเนินการศึกษารายละเอียดอัตราค่าเช่าต่าง ๆ ใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น ที่ดินแนวถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น

*ลุยประมูลที่ดินแปลงใหญ่ 28 แปลง

สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ นั้น เบื้องต้น บริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก จะดำเนินการในปี 2568 จำนวน 7 แปลง ประกอบด้วย

1) โครงการบางซื่อ - คลองตัน (RCA)

2) โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย

3) โครงการตลาดคลองสาน

4) โครงการสถานีราชปรารภ(แปลง OA)

5) โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.)

6) โครงการย่านบางซื่อ(แปลง A2) สถานีขนส่ง

7) โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5)

ส่วนที่เหลือนั้น จะดำเนินการในปี 2569 - 2572 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ส่งผลการศึกษาที่ดินแปลงที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ (Non Core) จำนวน 28 แปลงดังกล่าวให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 แล้ว รวมถึงการมอบสัญญาเช่าบางส่วนให้กับบริษัท SRTA นำไปศึกษาและดำเนินการจัดทำแผน เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ด้วย

ปัจจุบัน ที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่

"การส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ ให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดกับการรถไฟฯ อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบให้การรถไฟฯ จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของการรถไฟฯ 100% แต่สามารถสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ