"อนุสรณ์" แนะไทยปรับยุทธศาสตร์การค้า หันพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในยุค "ทรัมป์ 2"

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 10, 2024 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของนโยบายกีดกันทางการค้า และการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของ "รัฐบาลทรัมป์ 2" จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม และคาดว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีนก็จะตอบโต้ทางการค้า ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลง สะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงในปีหน้า รวมทั้งอัตราการขยายตัวจีดีพีของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว

ประเทศจีน อาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หากมีการขึ้นภาษีถึง 60% ในสินค้าทุกประเทศที่นำเข้าจากจีน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3% หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่นมาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) และธนาคารโลก (World Bank) ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้า มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมาก ภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯ ดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้

นอกจากจะเกิดให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss) จะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา อาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้

"การรักษาระบบการค้าเสรีของโลก ต้องยึดถือระเบียบการค้าโลกที่ตกลงเอาไว้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบภายใต้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจระยะยาวแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์ และมีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง" นายอนุสรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ารอบนี้ จะมีประเทศที่ได้ประโยชน์ ประเทศที่เสียประโยชน์แตกต่างกันไปตามโครงสร้างการค้าและเศรษฐกิจของประเทศนั้น รวมทั้งยุทธศาสตร์และความสามารถในการตอบสนองต่อความท้าทายนี้

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบมากขึ้น ภายใต้ทรัปม์ 2.0 นั้น ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับจ้างการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น ระบบการค้าโลกจะเป็นเรื่องของการต่อรองและการตอบโต้กันไปมา มากกว่าการทำกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้มาเป็นกรอบในการดำเนินการทางการค้า คือ จะเป็น Deal-Based มากกว่า Rule-Based มากขึ้น มีแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์อาจทบทวนบทบาทหรืออาจถอนตัวออกจาก Trans-Pacific Partnership และยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework ของรัฐบาลไบเดน

"ไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศใหม่ เพื่อให้รับมือความท้าทายใหม่ ๆ และไทยควรจะเตรียมตัวสำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% จากทุกประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2" นายอนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพาต่อจีนมากขึ้น เอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า สงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯในการสกัดกั้นการไล่กวดของจีน จะเพิ่มความได้เปรียบของการผูกขาด (Monopolistic Advantage) ของบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ความได้เปรียบนี้เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ 1.เป็นเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯและได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ปิดกั้นการลอกเลียนต่อยอด 2.การกระจายสินค้าไฮเทคและการสร้างแบรนด์ที่ผู้อื่นลอกเลียนได้ยาก

นายอนุสรณ์ มองว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รอบใหม่อ จนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ได้ในไม่ช้า ไทยควรวางสถานะ "อิสระอย่างมียุทธศาสตร์" การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใด ให้พิจารณาเป็นรายประเด็นด้วยกลยุทธที่มีกรอบยุทธศาสตร์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ

ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกจะเกิดขึ้น ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้ เช่นเดียวที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ หลังข้อตกลง Plaza Accord ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ไทยอาจเจอข้อเรียกร้องจำกัดปริมาณส่งออกโดยความสมัครใจ (Voluntary Export Restraints ? VER) ตามยุทธศาสตร์เจรจาการค้าแบบทวิภาคีของสหรัฐฯ ไทยนั้นอยู่ในฐานะที่มีความเสี่ยงจากการที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐฯต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐอเมริกา อาจขอให้ไทยกำหนดโค้วต้าปริมาณการส่งออกของสินค้าบางประเภทของไทย และมีสินค้าบางตัวที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ กีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจต่อจีน จะทำให้จีนต้องหาตลาดระบายสินค้าเพื่อรักษาระดับการผลิตและการจ้างงานภายในไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตลดลงมากเกินไป การระบายสินค้าอาจนำมาสู่พฤติกรรมทุ่มตลาดได้ โดยเราสามารถแบ่งพฤติกรรมการทุ่มตลาดออกได้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ 1.การทุ่มตลาดอย่างถาวร (Persistent Dumping) 2.การทุ่มตลาดเป็นครั้งคราว (Sparodic Dumping) 3.การทุ่มตลาดเพื่อทำลายคู่แข่ง (Predatory Dumping) และ 4.การทุ่มตลาดเพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ (Market Penetration Dumping) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องประเมินว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการของตนนั้น เผชิญภาวะการทุ่มตลาดแบบไหน

"กรณีของไทย ที่เผชิญการทุ่มตลาดของสินค้าจีนนั้น เป็นการทุ่มตลาดเป็นครั้งคราว การทุ่มตลาดประเภทนี้ กระทำไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของภาคการผลิตในจีน ที่ต้องเผชิญกำลังซื้อภายในอ่อนแอ และมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก เมื่อเผชิญการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ปีหน้า จีนก็จะส่งออกระบายสินค้ามายังภูมิภาคเอเชีย และไทยเพิ่มเติม" นายอนุสรณ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ