ฝ่ายวิจัย BBL มองศก.ไทย Q1 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ห่วงน้ำมัน-การเมืองบั่นทอน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 16, 2008 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ระบุเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/51 เห็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งการบริโภคและการลงทุน การนำเข้าขยายตัวสูงจากมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบและเครื่องจักร ส่วนปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ เศรษฐกิจโลกอาจโตต่ำกว่าคาด ขณะที่เงินเฟ้อสูง ราคาน้ำมันพุ่งแรง รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศบั่นทอนความเชื่อมั่น 
ในช่วงไตรมาส 1/51 ดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวประมาณ 7% ทั้งสองตัว การบริโภคเอกชนที่มีการขยายตัวสูงคือ ยอดขายรถยนต์นั่ง และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การนำเข้าสินค้าทุนและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวสูง และส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ การใช้กำลังการผลิตในไตรมาสแรกเฉลี่ย 73.6% เฉพาะเดือน มี.ค.สูงขึ้นเป็น 78.1% รายได้ของภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.1% จากปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร
ฝ่ายวิจัย ระบุว่า เสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยการส่งออกมูลค่า 41.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21.1% สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และยานยนต์ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัญมณีและเครื่องประดับกลายเป็นสินค้าสำคัญส่งออกอันดับที่ 3 แทนการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นราว 40% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 35%
ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 41.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 34.5% สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ โดยมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกือบ 80% นอกจากนี้ยังมีสินค้านำเข้าที่ขยายตัวสูง เช่น ยานพาหนะและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 38.1% อัญมณีและทองคำเพิ่มขึ้น 73.6% และเหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 28.8% เป็นต้น
ดุลการค้าขาดดุล 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ดุลการค้าจะเริ่มขาดดุล แต่มีดุลบริการเกินดุลสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 5.0% และสูงขึ้นเป็น 6.2% ในเดือน เม.ย. ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยใน 4 เดือนแรกของปีสูงขึ้น 5.3% ซึ่งเกิดจากการเพิ่มของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.5% และสูงขึ้นเป็น 2.1% ในเดือน เม.ย. โดยรวมใน 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 1.6%
ดัชนีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 10.8% โดยเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 12.7% เฉลี่ย 4 เดือนแรกดัชนีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 11.3% จึงต้องระมัดระวังการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคต่อไป
ฝ่ายวิจัย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในระยะต่อไป คือ การที่ IMF ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 51 เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1% และกังวลต่อเงินเฟ้อของโลกที่สูงขึ้นเป็น 5.5%
ภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงการสูงขึ้นของราคาน้ำมันที่ทำสถิติแตะระดับ 127 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรล และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น และยังมีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นของประชนชนและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ