เลี่ยงยาก! นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดกระทบเศรษฐกิจไทยปี 68 ทั้งแง่ส่งออก-ลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 11, 2024 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลี่ยงยาก! นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดกระทบเศรษฐกิจไทยปี 68 ทั้งแง่ส่งออก-ลงทุน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ภายหลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และจะกลับเข้าทำเนียบขาวได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการชนะคู่แข่งอย่าง "คามาลา แฮร์ริส" จากพรรค Democrats ได้ขาดลอย อีกทั้งพรรค Republicans ของทรัมป์ ยังสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย (Republicans Sweep) ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบ Republicans Sweep เช่นนี้ เอื้อให้ทรัมป์ สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้เต็มที่

สำหรับนโยบายสำคัญที่ทรัมป์ ได้หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง ได้แก่

1. ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 60% และสินค้าประเทศอื่น 10%

2. กีดกันคนต่างชาติอพยพเข้าสหรัฐฯ โดยจะห้ามและขับไล่ผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย จำกัดการข้ามแดนถูกกฎหมาย และชะลอการอนุมัติวีซ่าเข้าสหรัฐฯ

3. ให้พันธมิตรสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองด้านกำลังทหารมากขึ้น โดยจะลดเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการป้องกันประเทศของยูเครน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

4. เน้นความมั่นคงด้านพลังงาน ก่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันต่อไป

5. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลัง และต้องก่อหนี้มากขึ้น

* ไทยไม่รอดผลกระทบระยะสั้น "ส่งออก-ลงทุน" ลด

SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเตรียมความพร้อมในการวางแผนรับมือกับผลกระทบ และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์ โดยอาศัยสมมติฐานชุดนโยบายของสหรัฐฯ ตามการวิเคราะห์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ดังนี้

1. การส่งออกสินค้า : นโยบายกีดกันการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นวงกว้างของสหรัฐฯ ที่กดดันการค้าโลกให้ชะลอลง ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกไทย จาก

(1) สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นกำแพงภาษี

(2) ภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปตลาดสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหา Overcapacity ของจีนที่ยังไม่คลี่คลายในปัจจุบัน ยิ่งทำให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน สินค้าจีนจึงมีแนวโน้มทะลักเข้ามาขายตลาดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะไทย ส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น และยิ่งกดดันให้ภาคการผลิตไทยฟื้นช้า

โดย SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยในปี 2568 จะลดลงราว 0.8 - 1% จากผลกระทบนโยบายกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น

2. การลงทุน : ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ตามนโยบายการค้าของทรัมป์ที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ภาวะการลงทุนซบเซาลง นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน ทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย จึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือเป็นไปได้ช้า รวมถึงความเสี่ยงกดดันการลงทุนจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

โดย SCB EIC ประเมินการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2568 จะลดลงราว 0.4 - 0.5% จากความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนโลกที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวต่ำลงจากแนวโน้มเดิม สาเหตุหลักจากการส่งออกไทยถูกกดดันจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง และการลงทุนในไทยที่ยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติได้เต็มที่

"การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชนไทย จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะลดลงราว 0.5% เทียบกับแนวโน้มเดิม ก่อนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ" บทวิเคราะห์ระบุ
* แนะไทยรักษาบทบาท "เป็นกลาง" ภายใต้กระแสแบ่งขั้วเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ แม้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะการกีดกันการค้าและลงทุน จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวต่ำลง แต่ในระยะปานกลาง SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของนโยบายกีดกันระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น ไทยอาจได้รับประโยชน์ จากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกัน จะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น

ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้ อาจจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้ว (Decoupling) กันมากขึ้น

"นโยบายของประเทศไทย ในการเตรียมรับมือโลกที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ภายใต้ทรัมป์ 2.0 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันรุนแรงจากสินค้านำเข้าจากจีน ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยได้มากขึ้น และนโยบายรับมือในระยะยาว เพื่อเตรียมปรับตัวคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น" บทวิเคราะห์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ