นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดกรอบการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตผลิตสุรา จะต้องมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อย ให้นำสินค้าเกษตรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นสุราพื้นบ้านที่มีมูลค่าสูงขึ้น สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมาธิการฯ เห็นพ้องในการสนับสนุนการลดข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้นำผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น มาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นสุราพื้นที่บ้าน-สุราชุมชน ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสุราชุมชนที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้เป็น Soft Power ของไทยได้
รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้พิจารณาหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการผลิตสุราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการแก้ไขปลดล็อค เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็กที่มีศักยภาพ สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นขนาดกลางได้ รวมถึงได้มีการยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดขนาดกำลังการผลิตขั้นต่ำ และยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนสำหรับเบียร์ ทำให้มีโรงอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านขนาดกลาง และโรงอุตสาหกรรมเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตกำลังจะปรับปรุงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราได้สะดวกมากขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยยังคงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมคุณภาพของสุรา เพื่อมิให้มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาสู่ผู้บริโภค รวมถึงการสร้างสมดุลเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้านนายชนินทร์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากภาคการเมือง ราชการ นักวิชาการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการสุราชุมชน ที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา โดยนำปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนที่อยากจะประกอบอาชีพให้ถูกต้อง มาใช้ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับบริบทของการส่งเสริมสุราชุมชนในปัจจุบันตามนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น
โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ จะเป็นเหมือนหลักประกันทางโอกาสของกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ว่าจะสามารถเข้าถึงสิทธิในการเป็นผู้ผลิตสุราได้ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพเท่านั้น แต่จะเป็นการยกระดับการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้ครัวเรือนเกษตรกรมีทางเลือกในการสร้างรายได้ที่มากขึ้น และการส่งเสริมวัฒนธรรมสุราชุมชนที่อยู่กับสังคมมายาวนานนี้ จะสร้างเอกลักษณ์ให้แต่ละพื้นที่ ส่งต่อการสร้างเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารต่อไป