นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ลงมติรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานบอร์ด ธปท. ในการประชุมวานนี้ (11 พ.ย.) แล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอชื่อประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ ต่อนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ภายในวันที่ 19 พ.ย.นี้ เพื่อดำเนินการตามขั้นต่อไป คือ นำเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงแต่งตั้งต่อไป ส่วนชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนที่ได้รับการคัดเลือกนั้น รมว.คลัง สามารถเปิดเผยชื่อได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง "ประธานบอร์ด ธปท." คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาอย่างตกผลึกร่วมกัน โดยมีข้อสรุป 2 ด้านสำคัญ คือ ผู้ที่เสนอเข้ามาทั้ง 3 คน ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฏหมาย มีคุณสมบัติครบถ้วน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อดำเนินภารกิจของ ธปท. ทั้งความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ บัญชี กฎหมาย หรือความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการของ ธปท.
ทั้งนี้ การคัดเลือกดังกล่าว เป็นการลงคะแนนทางลับ โดยไม่มีใครรู้ว่าลงให้ใคร ซึ่งชุดเอกสารและปากกาจะเป็นชุดเดียวกัน และสิ่งสำคัญการลงมติ คือ กากบาท เป็นการให้เลือก ไม่ใช่ไม่เลือก ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง "ประธานบอร์ด ธปท." ได้ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งยังไม่สิ้นสุด
"ดังนั้น ความรู้สึกในฐานะที่เป็นประธานคัดเลือกฯ มีแรงกดดันตลอดเวลา แต่ต้องยึดตามกฎหมาย และยึดหลักการเป็นหลัก เพราะผลที่ออกมา ก็เป็นไปตามกฎหมายและหลักการ อะไรที่อยู่ในการดำเนินงาน และยังไม่เสร็จสิ้นก็ห้ามพูด และห้ามแซงชั่น" นายสถิตย์ กล่าวในงาน "ECONMASS TALK EP.1"
สำหรับข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่าประธานบอร์ด ธปท. จะเข้าไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางนั้น นายสถิตย์ กล่าวว่า ประธานบอร์ดธปท. มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ธปท. ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ภายใต้โครงสร้าง ธปท. จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ชุด คือ 1.คณะกรรมการ ธปท. 2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 3.คณะกรรมการสถาบันการเงิน (กนส.)และ 4. คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ซึ่งทั้ง 3 คณะ ล้วนแต่มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย ไม่ได้อยู่ภายใต้คณะกรรมการธปท. หรือประธานบอร์ด ธปท. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ของประธานบอร์ดธปท. ยังถูกกำหนดไว้ว่า มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการทั่วไปของ ธปท. โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณ กำกับโครงสร้างองค์กร ออกข้อบังคับบุคลากร และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานบริหารจัดการ จึงไม่มีหน้าที่หรืออำนาจในการเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงิน เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราเงินเฟ้อ แต่ยกเว้น รมว.คลัง จะเชิญผู้ว่าฯ ธปท.เข้ามาหารือถึงประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้นโบบายการเงินสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ความเป็นห่วงในเรื่องการเข้าไปแทรกแซงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น จะเห็นว่า แม้บอร์ด ธปท. จะมีหน้าที่ออกหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการทุนสำรองฯ ได้ แต่ไม่ได้มีอำนาจการบริหารจัดการโดยตรง ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ จะต้องมีการหารือภายในคณะกรรมการ และจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่สามารถทำได้เลยทันที เพราะจะมีความสุ่มเสี่ยงประเด็นความขัดแย้ง และถูกวิจารณ์อย่างขว้างกวาง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีใครทำ
"ประธานบอร์ดธปท. เมื่อถูกคัดเลือกเข้าไปแล้ว จะเป็นคนของ ธปท.แล้ว ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และจรรยาบรรณของ ธปท.และเข้าไปแล้วจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ดังนั้น จะต้องทำงานเคียงคู่กันไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยไม่สามารถแซงแทรกการทำนโยบายการเงินได้ รวมถึงการปลดผู้ว่า ธปท.ไม่ได้ ซึ่งการจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.ได้นั้น ตามกฎหมาย ธปท.จะต้องมี 2 ข้อ คือ 1.ประพฤติชั่วร้ายแรง และ 2.ปฏิบัติหน้าที่หย่อนสมรรถภาพในหน้าที่ ซึ่งกรณีผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ สบายใจได้ ไม่ได้ทำเสียหายหรือหย่อนในหน้าที่ และที่ผ่านมานายพิชัย รมว.คลัง กับผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ มีการพูดคุยด้วยความละมุนละม่อม และเป็นไปด้วยดี" นายสถิตย์ กล่าว