นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่สื่อต่างประเทศอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ โดยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 1% มากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือก มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีต รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ ธปท. คนใหม่ ว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ไม่น่าจะใช่ประเด็นหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่น่าจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัยมากกว่า
โดยปัจจัยหลักส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเรื่องผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาประกอบด้วย
"เป็นไปไม่ได้เลย ที่คนหนึ่งจะสามารถชี้ได้ว่า ค่าเงินที่อ่อนลงเป็นผลมาจากปัจจัยไหน เพราะว่าแต่ละปัจจัย มีเรื่องผลกระทบในมิติอื่น ๆ มากมาย ดังนั้น การจะบอกว่าค่าเงินที่อ่อนลง เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่น่าจะใช่ประเด็น และมองว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าค่าเงินที่อ่อนลงตอนนี้เกิดจากปัจจัยนี้ หรือปัจจัยนั้น เพราะเราไม่ควรพุ่งเป้าไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว" รมช.คลัง ระบุ
สำหรับการพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นายเผ่าภูมิ ยืนยันว่าจะต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในระยะยาว มากกว่าระยะสั้น โดยจะต้องดูนโยบายการเงินของประเทศอื่น ๆ ประกอบด้วย และพิจารณานโยบายการเงินของไทยว่าเป็นอย่างไร มองให้เป็นตาชั่งว่าทิศทางมีการโน้มเอียงอย่างไรมากกว่า
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความเป็นอิสระของ ธปท. หลังจากการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท.นั้น นายเผ่าภูมิ ขอไม่ให้ความเห็นเรื่องตัวบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก แต่อยากให้พิจารณาเรื่องกระบวนการคัดสรร กระบวนการต่าง ๆ ว่าได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้อง และต้องเชื่อมั่นในกระบวนการเหล่านั้น เพราะที่สุดแล้วกระบวนการ น่าจะคัดเลือกบุคคลที่ดีที่สุดเข้ามาทำงาน
"ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากที่เคยเป็น และควรจะเป็น ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้นั้น ก็เป็นเรื่องที่คนคาดการณ์ หรือมีมุมมองก็สามารถวาดภาพไปในทิศทางที่ตัวเองอยากให้เป็นได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงนั้น อยากให้รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์" นายเผ่าภูมิ ระบุ
พร้อมยืนยันว่า กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีการทำงานร่วมกันแบบให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ไม่ได้อิสระจนขาดออกจากกัน หรือไม่ยุ่งเกี่ยวกันเลย แต่มีการประสานงานกัน พูดคุย เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา หรือการหารือเรื่องนโยบายการเงิน
"ทั้งหมดก็เกิดจากการพูดคุยกัน การเชื่อม การประสานกัน โดยกระทรวงการคลังพยายามจะทำสิ่งนี้ให้มากขึ้น คือ การให้อิสระในการทำงานในเชิงให้เกียรติกัน ภายใต้การหารือพูดคุยกัน" รมช.คลัง ระบุ