นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) พร้อมกล่าวหัวข้อ "ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง" (People. Business. Prosperity) ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APEC ของเปรูที่ว่า "เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน"และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy) โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นถึงความยั่งยืน ที่จะเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เน้นประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ปีนี้โลกเผชิญกับสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อย่างในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่แต่ละประเทศต้องร่วมมือกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังยินดีที่เปรูผลักดันประเด็นสำคัญอย่างเช่น พลังงานสะอาด เช่นไฮโดรเจน และพลังงาน คาร์บอนต่ำ รวมถึงการป้องกันและลดการสูญเสีย และขยะอาหาร ซึ่งทั้งสองอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายปฏิญญา กรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ของไทย พร้อมกล่าวชื่นชม National Center for APEC (NCAPEC) สำหรับการจัด Sustainable Future Forum เป็นปีที่สองติดต่อกันซึ่ง เป็นโอกาสดี ที่จะขับเคลื่อนและควรสนับสนุนถึงความพยายามเชิงนวัตกรรมและครอบคลุมจากภาคเอกชน องค์กร NGO และสถาบันการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะดำเนินการต่อไป